
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัย ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 6/2568 ลงวันที่ 23 พ.ค.68 แจ้งว่า ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมือง ระหว่างวันที่ 26-30 พ.ค.68 ดังนี้
* พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม
- ภาคเหนือ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย) เชียงราย (อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ) ลำปาง (อำเภอเมืองลำปาง และอำเภอห้างฉัตร) อุตรดิตถ์ (อำเภอบ้านโคก อำเภอฟากท่า และอำเภอน้ำปาด) ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด) และเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก และอำเภอน้ำหนาว)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบึงโขงหลง อำเภอบุ่งคล้า อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล) อุดรธานี (อำเภอไชยวาน อำเภอวังสามหมอ และอำเภอหนองหาน) สกลนคร (อำเภอกุดบาก อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอบ้านม่วง อำเภอพรรณานิคม อำเภอพังโคน อำเภอภูพาน อำเภอวานรนิวาส อำเภอวาริชภูมิ อำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอส่องดาว) นครพนม (อำเภอท่าอุเทน อำเภอธาตุพนม และอำเภอนาแก) มหาสารคาม (อำเภอกุดรัง อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอนาเชือก อำเภอบรบือ และอำเภอวาปีปทุม) กาฬสินธุ์ (อำเภอคำม่วง และอำเภอสมเด็จ) มุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดงหลวง) ร้อยเอ็ด (อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอโพนทราย อำเภอศรีสมเด็จ และอำเภอสุวรรณภูมิ) ยโสธร (อำเภอกุดชุม อำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอมหาชนะชัย) อำนาจเจริญ (อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอลืออำนาจ และอำเภอหัวตะพาน) สุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี) ศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอปรางค์กู่) และอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน อำเภอโขงเจียม อำเภอเดชอุดม อำเภอตระการพืชผล อำเภอนาเยีย อำเภอน้ำยืน อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสิรินธร)
- ภาคกลาง จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ อำเภอบ่อพลอย อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอสังขละบุรี) นครนายก (อำเภอเมืองนครนายก และอำเภอปากพลี) ปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี) จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอแก่งหางแมว อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอนายายอาม อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม และอำเภอแหลมสิงห์) และตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ อำเภอเกาะกูด และอำเภอเกาะช้าง)
- ภาคใต้ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะ) ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น และอำเภอสุขสำราญ) และจังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี)
* พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยภูมิ มุกดาหาร นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สระบุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว ชลบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
ทั้งนี้ กอปภ.ก.โดย ปภ.ได้ประสานแจ้งจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นทีเสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและปฏิบัติตนได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นในพื้นที่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 68)
Tags: น้ำท่วม, น้ำป่า, ปภ., ภาสกร บุญญลักษม์