
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 3.1% ใกล้เคียงคาดการณ์ของ SCB EIC ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนก่อนสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ รวมถึงวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และปัจจัยหนุนจากการเร่งใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลบวกจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมที่ยังอยู่ในช่วงไฮซีซัน ก่อนเริ่มชะลอตัวลงจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่ำ ส่วนหนึ่งจากการระบายสินค้าคงคลังต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจไทยช่วงข้างหน้าจะแผ่วลง GDP ครึ่งปีหลังอาจโตเฉลี่ยไม่ถึง 1% การใช้จ่ายภาครัฐจะยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะการปรับแผนใช้จ่ายงบกลางค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจวงเงิน 1.57 แสนล้านบาทที่ยังเหลือ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ด้านการผลิตยังสะท้อนความเปราะบาง อาทิ จำนวนธุรกิจเปิดกิจการในช่วง 4 เดือนแรกของปีหดตัว 4.4%YOY ขณะที่จำนวนธุรกิจปิดกิจการเพิ่มขึ้น 8.3%YOY ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับลดลง เครื่องชี้กิจกรรมภาคธุรกิจมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดบ้านและรถยนต์ ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวตามการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน บางธุรกิจจะเผชิญผลกระทบจาก China ininflux รุนแรงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ชี้ว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง
สำหรับการส่งออกสินค้าจะกลับมาหดตัวหลังสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีตอบโต้คู่ค้าตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. นอกจากนี้เครื่องชี้ภาวะการเงินที่ยังตึงตัว โดยเฉพาะรายย่อยที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยากจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคเอกชนให้ใช้จ่ายระมัดระวังขึ้น ในภาวะกำลังซื้ออ่อนแอและหนี้ครัวเรือนสูง
SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับความตึงตัวของภาวะการเงินที่ยังมีอยู่มาก สะท้อนจากสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่องและ NPLs ที่สูงขึ้น
เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคจากดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและเงินทุนไหลเข้าภูมิภาค แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่นทำให้ดัชนีค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงบ้าง แต่ปัญหาค่าเงินบาทแข็งและมีความผันผวนสูงยังมีอยู่มาก ในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าในกรอบ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์ และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อตามวัฏจักรเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและการไหลออกของเงินทุนจากสหรัฐฯ ทั้งนี้เงินบาทอาจไม่แข็งค่าเร็วนัก เพราะสัดส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของไทยยังต่ำ กระแส Repatriation flows ของเงินลงทุนฯ กลับมาไทยน่าจะมีน้อย ในช่วงสิ้นปีคาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในกรอบ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 68)
Tags: SCB EIC, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, เศรษฐกิจไทย