
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารฯ ได้เข้าพบ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกไทย จากความท้าทายซึ่งเกิดจากความผันผวนและคาดการณ์ได้ยากของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายทางภาษี และมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนมาตรการทางการค้าใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงบทบาทของประเทศผู้ผลิตเพื่อส่งออกรายใหญ่ ปัญหาโลกเดือด ส่งผลให้ทุกประเทศต้องปรับตัวทั้งภายใน และภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดย สรท.ได้นำเสนอประเด็นสำคัญเพื่อการผลักดันการส่งออกอย่างยั่งยืน และมีข้อสรุปที่สำคัญดังนี้
– ประการแรก สรท.เสนอให้รัฐบาลร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมผลักดันแนวทางการพัฒนาประเทศสู่ชาติการค้า (Trading Nation Long-Term Strategy) โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นชาติพัฒนาแล้วภายในปี 2575 พร้อมทั้งเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างการค้าและการลงทุน (คปค.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ซึ่ง รมว.พาณิชย์ เห็นพ้องข้อเสนอของ สรท. และยินดีร่วมมือในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ และยินดีช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอยุทธศาสตร์ของ สรท. เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
– ประการที่สอง ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการเร่งแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของการส่งออกไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดย สรท. มีข้อเสนอที่สำคัญประกอบด้วย
1) เร่งพิจารณาข้อเสนอสำหรับการเจรจาที่สอดคล้องกับความคาดหวังของสหรัฐอเมริกา โดยที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทย
2) เร่งเดินหน้าด้านการตลาดเพื่อกระจายสินค้าไทยไปยังตลาดอื่นทั่วโลก รวมถึงเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดหลักจากสงครามการค้า ซึ่งต้องมีการทำแผนภาพความต้องการสินค้าสำคัญ หรือ Product champion ของประเทศไทย กับตลาดเป้าหมายทุกแห่งที่มีความต้องการสินค้าเหล่านั้น เพื่อให้มีการเดินหน้าทำกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
3) ส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป และรวมเปิดการเจรจากับตลาดสำคัญอื่น อาทิ เม็กซิโก และลาตินอเมริกา
4) ให้ความสำคัญและเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ เพิ่มการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าเพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสินค้าผ่านแดน สินค้าถ่ายลำ และการใช้สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากร (Freezone) เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าไทยไปยังประเทศที่ 3
5) ยกระดับความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Regional Comprehensive Partnership) ในการหารือกับสหรัฐอเมริกา และประเทศศักยภาพอื่น เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้มากขึ้น
– ประการที่สาม เศรษฐกิจประเทศไทย พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูง และสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศอื่น นอกเหนือจากสหรัฐฯ ยังคงสูงถึง 81-82% ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีท่าที และรักษาระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ เน้นความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพื่อให้เกิดความสมดุล และเป็นมิตรกับทุกฝ่าย เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้า อาทิ การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในลักษณะของประเทศผู้สังเกตการณ์ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างการเจรจากับสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 68)
Tags: การส่งออกไทย, ธนากร เกษตรสุวรรณ, พิชัย ชุณหวชิร, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, สรท., เศรษฐกิจไทย