TU รับเงินกู้ Blue Loan จาก ADB วงเงิน 5 พันลบ.ยกระดับการเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน

บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป [TU] จับมือธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) นำ Blue Finance Solutions วงเงินรวม 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,000 ล้านบาท ซึ่ง TU เป็นบริษัทแรกของอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยที่ได้รับวงเงินกู้ดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน การยกระดับการเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก และยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่กำลังปรับตัวและมุ่งสู่ศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืน หรือ Blue Economy

TU ระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจที่พึ่งพาทรัพยากรทางทะเลของไทยมีสัดส่วนประมาณ 30%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)สูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและเป็นแหล่งเลี้ยงชีพของประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของไทย ด้วยอุตสาหกรรมหลักอย่างท่าเรือ การเดินเรือ และการท่องเที่ยวชายฝั่งที่มีการพึ่งพาทรัพยากรทางทะเล ดังนั้นการบริหารจัดการเพื่อดูแลท้องทะเลอย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580

นายลูโดวิค การ์นิเย่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน TU กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ADB ในครั้งนี้ตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างยั่งยืน และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยยูเนี่ยนในการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจ อย่างมีความรับผิดชอบผ่านกระบวนการผลิตอาหารทะเล จัดหาวัตถุดิบ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนา Blue Economy ของประเทศไทยให้เติบโตต่อเนื่อง

การผนึกกำลังความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในการสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเลส่งผลให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างที่ดีในการการนำนวัตกรรมทางการเงินมาเป็นเครื่องมือในการปกป้องดูแลทรัพยากรทางทะเลพร้อมดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

นายอานุช เมธา ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทน ADB กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า Blue Finance สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการออกวงเงินกู้ดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกของ ADB ที่จัดสรรให้กับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทยซึ่งจะช่วยให้การกระบวนการผลิตกุ้งของประเทศมีความยั่งยืนและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ภายใต้วงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลที่ได้รับในครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการจัดหาวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนที่ได้การยอมรับในระดับโลกจาก Global Sustainable Seafood Initiative หรือ GSSI เช่น มาตรฐาน Aquaculture Stewardship Council หรือ ASC และมาตรฐาน Best Aquaculture Practices หรือ BAP หรือจัดซื้อจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีความน่าเชื่อถือ (Aquaculture Improvement Projects หรือ AIPs)

แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพการตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารกุ้ง และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงประสิทธิภาพอัตราแลกเนื้อ (FCR) รวมถึง การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดตนส่งเสริมการใช้แรงงานที่เป็นธรรมและการทำงานร่วมกับชุมชน

ภายในงานยังมีการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตของ Blue Economy ด้วย Finance solutions โดยมีตัวแทนจากไทยยูเนี่ยน และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่เป็นพันธมิตรทางการเงิน 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศจีน, ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC), ธนาคารเอ็มยูเอฟจี (MUFG), ธนาคาร OCBC, ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) และธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (UOB)

นายอดัม เบรนนัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร TU กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ของเราที่มุ่งผลิตอาหารทะเลด้วยความรับผิดชอบและยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® 2030 ของไทยยูเนี่ยน และด้วยวงเงินสนับสนุนทางการเงินจาก ADB ในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยให้เราก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเลที่ได้รับการยอมรับว่าดำเนินธุรกิจโปร่งใสตรวจสอบได้ มีนวัตกรรมและให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top