
จีนและสหภาพยุโรป (EU) กำลังเดินหน้ายกระดับความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันด้านภาษี และการค้าโลกมีแนวโน้มแยกตัวกันมากขึ้น
รายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยโรเดียม กรุ๊ป (Rhodium Group) ในนิวยอร์ก และสถาบันวิจัย MERICS (Mercator Institute for China Studies) ของเยอรมนี เผยให้เห็นว่า การลงทุนของจีนในสหภาพยุโรปพุ่งขึ้น 47% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 1 หมื่นล้านยูโร (1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2567 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนใหม่ (Greenfield Investment) ที่ทำสถิติสูงสุด ประกอบกับการฟื้นตัวของการควบรวมและซื้อกิจการ
ทั้งนี้ Greenfield investment คือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประเภทหนึ่ง โดยที่บริษัทแม่ลงทุนก่อตั้งบริษัทสาขาหรือลงทุนใหม่ในต่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้น รายงานระบุว่า การลงทุนแบบ Greenfield investment ของจีนในยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกัน และทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 5.9 พันล้านยูโร ในขณะที่การลงทุนด้านการควบรวมและซื้อกิจการเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปี 2567 เป็น 4.1 พันล้านยูโร
บริษัท คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด (Contemporary Amperex Technology หรือ CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีน เป็นผู้นำการลงทุนนำในปี 2567 โดยคิดเป็น 16% ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในฮังการี
นอกจากนี้ รายงานคาดการณ์ว่า การลงทุนของจีนในยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ จากอานิสงส์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปที่ดีขึ้นท่ามกลางสงครามการค้าครั้งใหม่ของสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า ยอดลงทุนสะสมในจีนของบริษัทจาก EU มีมูลค่ามากกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2567
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเติบโตของการลงทุนดังกล่าวเน้นย้ำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหภาพยุโรปนั้นมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงเวลาที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ พร้อมทั้งระบุด้วยว่า การเสริมสร้างความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการผลิตอัจฉริยะ ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องระบบการค้าพหุภาคีด้วย
ติง ชุน ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาของมหาวิทยาลัยฟูตั้นในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “จีนและสหภาพยุโรปมีศักยภาพมหาศาลสำหรับความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด การผลิตอัจฉริยะ และปัญญาประดิษฐ์” พร้อมกับเสริมด้วยว่า จีนและยุโรปควรร่วมมือกันเพื่อปกป้องเสถียรภาพของระบบการค้าพหุภาคีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลก และไม่ปล่อยให้ข้อพิพาททางการค้าบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ด้านไซมอน ลิคเทนเบิร์ก ประธานผู้ก่อตั้งออลไชน่า (All China) ของหอการค้าเดนมาร์กในจีน กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี (China Daily) ว่า ยุโรปตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการพึ่งพาสหรัฐฯ มากเกินไปในอดีต และกำลังหาทางสร้างจุดยืนและมุมมองที่เป็นอิสระมากขึ้น
“ความสามารถในการผลิตของจีนนั้นโดดเด่นอย่างแท้จริง อาจจะดีที่สุดในโลก” เขากล่าว “หากเราไม่ใช้ประโยชน์จากมัน ก็เท่ากับว่าเรากำลังสูญเสียส่วนที่สำคัญยิ่งของมูลค่าทั่วโลก”
เหยา หลิง ผู้อำนวยการสถาบันยุโรปของสถาบันวิจัยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Chinese Academy of International Trade and Economic Cooperation) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจรวมกันที่คิดเป็นกว่าหนึ่งในสามของ GDP โลก และปริมาณการค้าที่มากกว่าหนึ่งในสี่ของการค้าโลก จีนและสหภาพยุโรปจึงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และพร้อมนำเสนอโอกาสมหาศาลสำหรับการพัฒนาของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบของระบบการค้าโลก จะช่วยให้จีนและสหภาพยุโรปบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายภาษีฝ่ายเดียวและไม่แน่นอนของสหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 68)
Tags: EU, การค้าโลก, จีน, ภาษีสหรัฐ, สหภาพยุโรป, สหรัฐ