
ผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียว โดยแถลงการณ์ไม่ได้กล่าวถึงสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของอาเซียนอย่างเจาะจง
แถลงการณ์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ช่วงค่ำวันอังคาร (27 พ.ค.) ระบุว่า “เราพิจารณาเห็นว่า การกระทำฝ่ายเดียวที่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากรและข้อจำกัดด้านการค้าและการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการแตกกลุ่มที่เกิดขึ้นทั่วโลก” ผู้นำกลุ่มอาเซียนระบุในแถลงการณ์
“อาเซียนข้อย้ำว่า การกระทำทางการค้าฝ่ายเดียวและการตอบโต้ทางการค้านั้น จะก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และมีความเสี่ยงที่จะทำให้การแตกกลุ่มทางเศรษฐกิจทั่วโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการกระทำเหล่านี้สร้างผลกระทบทางอ้อมต่ออาเซียน” แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนระบุ
นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ยังได้แสดงความกังวลต่อการที่ตลาดอาเซียนล้นทะลักไปด้วยสินค้าจีนที่เดิมมีจุดมุ่งหมายส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยผู้นำอาเซียนระบุในแถลงการณ์ว่า “เราสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเบี่ยงเบนเส้นทางการค้า และมีส่วนร่วมกับคู่ค้าผ่านทางแพลตฟอร์มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์”
ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา ล้วนอยู่ในรายชื่อ 20 อันดับแรกของการขาดดุลการค้าทวิภาคีของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่ว่าจะเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศเหล่านี้ในอัตรา 24% ไปจนถึง 49% เมื่อเดือนที่แล้ว อย่างไรก็ดี ปธน.ทรัมป์ได้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวชั่วคราวด้วยการปรับลดภาษีลงเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)
Tags: ภาษีศุลกากร, อาเซียน, เศรษฐกิจ