อิหร่านประกาศระงับความร่วมมือกับ IAEA อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงหลังถูกโจมตี

สื่อของทางการอิหร่านรายงานในวันนี้ (2 ก.ค.) ว่า ประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียน แห่งอิหร่าน ได้แถลงว่า อิหร่านจะระงับความร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบด้านนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

การตัดสินใจครั้งนี้มีที่มาจากการที่รัฐสภาอิหร่านได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อเดือนก่อน ในชื่อ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการระงับความร่วมมือของสาธารณรัฐอิสลามกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ซึ่งเสนอเป็นญัตติด่วนพิเศษสองวาระ”

เนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า “สืบเนื่องจากการที่ระบอบไซออนิสต์และสหรัฐอเมริกาได้ละเมิดอธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนของอิหร่าน โดยมุ่งเป้ามายังโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติของประเทศ และได้สร้างภยันตรายต่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ อาศัยอำนาจตามมาตรา 60 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 รัฐบาลจึงมีพันธกรณีที่จะต้องระงับความร่วมมือใด ๆ กับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศโดยทันที ทั้งในส่วนของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) และมาตรการพิทักษ์ความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง จนกว่าเงื่อนไขบางประการจะได้รับการตอบสนอง ซึ่งรวมถึงการรับประกันความปลอดภัยของโรงงานและบรรดานักวิทยาศาสตร์”

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) เอสมาอิล บาเกอี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวว่า จะคาดหวังให้อิหร่านยังคงความร่วมมือตามปกติมิได้ ในเมื่อความปลอดภัยของผู้ตรวจการจาก IAEA เองยังไม่สามารถรับประกันได้ เพียงไม่กี่วันหลังจากที่โรงงานนิวเคลียร์หลายแห่งถูกโจมตีโดยอิสราเอลและสหรัฐฯ

อับบาส อารักชี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ก็ได้โพสต์ข้อความทางเอ็กซ์ (X) เมื่อวันศุกร์ (27 มิ.ย.) ว่า อิหร่านได้ “ยุติความร่วมมือกับ IAEA จนกว่าความปลอดภัยและความมั่นคงในกิจกรรมทางนิวเคลียร์ของเราจะได้รับการรับประกัน”

อารักชียังส่งสัญญาณด้วยว่า รัฐบาลอิหร่านอาจปฏิเสธคำร้องของผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ที่จะขอเข้าเยี่ยมชมโรงงานนิวเคลียร์ในอิหร่าน

อารักชีอ้างว่า การตัดสินใจนี้เป็นผลมาจากการที่ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ได้อำนวยความสะดวกให้คณะมนตรีผู้ว่าการของ IAEA ผ่านข้อมติที่ต่อต้านอิหร่าน ซึ่งเขาเชื่อว่า “มีแรงจูงใจทางการเมือง”

อารักชียังเสริมว่า การที่กองกำลังสหรัฐฯ และอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจครั้งนี้ เขาชี้ว่าการโจมตีดังกล่าวถือเป็นการ “ละเมิดมาตรการพิทักษ์ความปลอดภัยของ IAEA อย่างโจ่งแจ้ง” แต่กรอสซีกลับไม่ยอมประณามการกระทำดังกล่าว

อารักชียังกล่าวถึงความประสงค์ของกรอสซีที่ต้องการจะเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ที่ถูกโจมตีว่า เป็นเรื่อง “ไร้ความหมาย และอาจมีเจตนาร้ายแอบแฝง” ขณะที่ฝ่ายกรอสซีย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ตรวจการของ IAEA จะต้องสามารถปฏิบัติภารกิจตรวจสอบในอิหร่านต่อไปได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)