
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย, น่าน, หนองคาย, สกลนคร, บึงกาฬ, นครพนม และมุกดาหาร ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน ซึ่งปีนี้คาดว่าฝนจะมาเร็วกว่าปกติ ขณะนี้ได้เริ่มมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงราย หนองคาย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู ที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนก.ค. ถึงเดือนต.ค. จะมีฝนตกมากในหลายพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่ลุ่มต่ำ สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีรายงานเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ประชาชนในไทยเกิดความวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็สร้างความไม่สบายใจให้กับพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการ วิเคราะห์ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมทั้งปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 68 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้
ที่สำคัญ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยทั่วประเทศรวม 1,652 จุด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุก และเครื่องจักรอื่น ๆ ไว้ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นายประเสริฐ ยังได้มอบนโยบยและมีข้อสั่งการว่า ในปีนี้ จังหวัดและหน่วยงาน มีการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญที่อยากเน้น คือ เรามีบทเรียนที่อำเภอแม่สาย จึงขอให้ทุกหน่วยงานถอดบทเรียน แล้วนำมาปรับใช้ในการรับมือให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ตามบริบทของแต่ละจังหวัด และเน้นให้ทุกหน่วยงานมีการทำงานในลักษณะในเชิงบูรณาการร่วมกัน มีการประสานความร่วมมือ สร้างเครือข่ายที่พร้อมจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สำหรับแนวทางและนโยบายให้หน่วยงานรับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. การเตือนภัย ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และ GISTDA ร่วมกันติดตาม คาดการณ์การก่อตัวของพายุหรือร่องมรสุม หรือสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพยากรณ์อากาศล่วงหน้า (ระยะสั้น ระยะปานกลาง) คาดการณ์พื้นที่ฝนตกหนักถึงหนักมาก การประเมินพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอุทกภัย ออกประกาศคำเตือนภัยล่วงหน้า อย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที
และให้ตรวจสอบระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) ให้พร้อมใช้งาน รวมถึงเตรียมระบบสำรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งให้กรมทรัพยากรธรณี ติดตามและประเมินสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยจากดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว อย่างต่อเนื่อง และบูรณาการข้อมูลการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสื่อสารสร้างการรับรู้ความเสี่ยงภัยให้กับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์พิบัติภัยได้อย่างทันท่วงที

2. การเตรียมพื้นที่รับมือภัยพิบัติ ให้กรมชลประทาน ร่วมกับจังหวัดในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจและเร่งรัดดำเนินการรื้อสิ่งปลูกสร้างกลางลำน้ำที่ขวางทางน้ำ เพื่อให้นำไหลได้สะดวก พร้อมทั้งให้ประสานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เพื่อบูรณาการในการเร่งรัดขุดลอกแม่น้ำสายต่าง ๆ และให้กองทัพบก กองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธรณภัย ดำเนินการและสนับสนุนกำลังคน อากาศยาน เครื่องไม้ เครื่องมือ เครื่องจักรกลหนัก รถยนต์ เรือยาง และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าพื้นที่ได้ทันท่วงที
และให้กรมชลประทานตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน และประสานงานเพื่อสนับสนุนทรัพยากรให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือตรวจการณ์ เสบียงอาหารสัตว์ ถุงยังชีพสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ และชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช พร้อมกับให้จังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยไว้ล่วงหน้า
พร้อมทั้งให้มีการดำเนินซักซ้อมทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด จัดเตรียมพื้นที่สถานที่สำหรับการอพยพประชาชนมายังที่ปลอดภัย จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ น้ำ อาหารแห้ง เครื่องดื่ม จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน หน่วยรักษาพยาบาลไว้หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติจะได้พร้อมให้การช่วยเหลือได้ทันที พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่และประสานงานกับมูลนิธิต่าง ๆ จิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถเข้ามาสนับสนุนและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างคันกั้นน้ำริมตลิ่งในจุดวิกฤติ ตามแผนแก้ไขปัญหาระยะกลางโดยเร็ว และให้กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช้กลไกต่าง ๆ เพื่อเจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อแก้ไขปัญหาการชะล้างดินตะกอนที่เกิดขึ้นจากการเปิดเหมือง และการปนเปื้อนของสารพิษโดยเร็วที่สุด
3. การประชาสัมพันธ์ ให้จังหวัด กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ทบทวนแผนการปฏิบัติ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์การให้ข้อมูลผ่านระบบ Cell Broadcast (CB) โดยร่วมกับการแจ้งเตือนในรูปแบบอื่น ๆ ตลอดเวลา หากพบว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นให้รีบแจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทันท่วงที ได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนรับรู้สามารถเตรียมการ พร้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตให้มีความชัดเจน ลดความสับสน ป้องกันการเกิด Fake News
รวมทั้งการประสานเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ รวมทั้งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี เผยแพร่องค์ความรู้และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยกำชับให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบให้เพียงพอ และมีมาตรฐาน
4. การฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยา ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับจังหวัดจัดทำข้อมูล สำรวจพื้นที่ บ้านเรือน ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อประเมินและเร่งจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย และวาตภัย รวมถึงให้จังหวัดในพื้นที่เป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จิตอาสา ภาคเอกชน มูลนิธิต่าง ในการร่วมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในการล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนที่สาธารณประโยชน์ และสถานที่ราชการ ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ และสำรวจความเสียหาย โดยเฉพาะบ้านเรือนที่พักอาศัยพื้นที่การเกษตร ที่สาธารณประโยชน์ เพื่อซ่อมแซม ฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ และให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
นอกจากนั้น ให้จังหวัดบูรณาการกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิต่าง ๆ จัดชุดเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือลงพื้นที่ตามแผนเผชิญเหตุ ด้านการช่วยเหลือ การพยาบาลและการบรรเทาทุกข์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บนดอย หรือพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)