
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดการณ์มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 9.2 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 13.2% จากปีที่ผ่านมา บนความคาดหวังมูลค่าตลาดทะลุแสนล้านในปี 2569
ttb analytics ระบุว่า จากเทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงของคนในยุคปัจจุบันมีรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางกลุ่มเจ้าของอาจมีวิวัฒนาการสู่การเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรือเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) ที่เจ้าของเลือกที่จะซื้อของให้สัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความพอใจส่วนตน ส่งผลให้การจับจ่ายในส่วนของอุปกรณ์และค่าดูแลมีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง
ขณะเดียวกัน รวมถึงสังคมยุคดิจิทัลในปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงบางกลุ่มอาจพัฒนาบทบาทจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่สามารถยกระดับจาก “สมาชิกในครอบครัวปกติ” เป็น “สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้” ผ่านลักษณะเฉพาะตัวของสัตว์เลี้ยง ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในสังคมวงกว้าง (Pet Celebrity) และถูกพัฒนาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) ช่วยยกระดับสถานะของสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเลี้ยงดูมีแนวโน้มปรับเพิ่มในอัตราเร่ง
โดยคาดว่าปัจจุบันค่าเลี้ยงดูเฉลี่ยของการเลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัวอยู่ที่ราว 50,500 บาทต่อตัวต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 22.9% จากปีก่อนที่อยู่ราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระแบบดั้งเดิมที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 7,910 บาทต่อตัวต่อปีถึง 6 เท่าตัว
ดังนั้น ชัดเจนว่าการยกระดับบทบาทสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกในครอบครัวได้สร้างเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจสัตว์เลี้ยงอย่างมีนัย และเป็นแรงส่งสำคัญในการผลักดันให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตในปี 68 อยู่ที่ 9.2 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 13.2% บนการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี (ปี 62-68) ที่เฉลี่ยสูงถึงปีละ 18.9%
โดยรูปแบบการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยแบ่งออกเป็นดังนี้
1. กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และบริการรักษาสัตว์เลี้ยง เป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว (Pet Humanization) ที่เจ้าของให้ความสำคัญแก่สัตว์เลี้ยงประหนึ่งสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้รูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเน้นอาหารเฉพาะที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในอนาคตลง จากการให้อาหารที่ไม่เหมาะสมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระยะยาว รวมถึงอาหารสัตว์ในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในรูปแบบดังกล่าว ส่วนใหญ่มักใช้อาหารเกรดพรีเมี่ยมที่มีราคาสูง เช่น อาหารเปียก รวมถึงผู้เลี้ยงบางกลุ่มก็เลือกใช้อาหารดิบที่ไม่ผ่านความร้อน (BARF) ที่มีราคาสูง นอกจากนี้ เทรนด์ในปัจจุบันอาหารสัตว์เลี้ยงก็พัฒนาขึ้นในรูปแบบอาหารเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ (Functional Pet Food) ที่นอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมยังส่งผลดีต่อพัฒนาการและสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้ในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงปี 68 ขยายตัวโดยมีมูลค่าแตะ 6.24 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 16.5% บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 6 ปี (CAGR) ที่ 20.5%
ขณะเดียวกัน สอดคล้องกับบริการรักษาสัตว์ที่มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจากความตระหนักในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง และเมื่อสัตว์เลี้ยงเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยจึงกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้มูลค่าบริการรักษาสัตว์เติบโตต่อเนื่องที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปีที่ 17.9% ด้วยมูลค่า 6.99 พันล้านบาท ในปี 68
2. กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ถึงแม้จะได้รับแรงหนุนจากการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว แล้วมูลค่าของอุตสาหกรรมยังมีการเร่งตัวในช่วง 2-3 ปีผ่านมาจากกระแสการเลี้ยงเสมือนคนในครอบครัวแบบตามใจ และสมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้ (Petfluencer)
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง อาจเผชิญข้อจำกัดเฉพาะ เช่น ลักษณะที่สินค้าเป็นสินค้าคงทนรอบการเปลี่ยนอุปกรณ์อาจมีความถี่ต่ำกว่ากลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ของเล่นที่อาจมีข้อจำกัดการใช้งานไม่สามารถทำให้มีรูปแบบความซับซ้อนเสมือนของเล่นของคนได้ ส่งผลให้มูลค่าตลาดอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มการเติบโตที่ต่ำกว่ากลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยงอื่นโดยเติบโตราว 6% ที่มูลค่าราว 2.13 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่ธุรกิจให้บริการดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงหนุนทางตรงจากกระแสเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว ส่งผลให้รูปแบบการให้บริการเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม เช่น สปาสัตว์เลี้ยง บริการด้านสุขภาพทางเลือก ส่งผลให้ตลาดเติบโตแตะ 1.04 พันล้านบาท บนค่าเฉลี่ยการเติบโตย้อนหลัง 6 ปีที่สูงถึง 20.0% และคาดว่ายังคงรักษาโมเมนตัมเติบโตอย่างต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 69 ttb analytics ยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่ามีมูลค่าเติบโตทะลุหลักแสนล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 1.01 แสนล้านบาท รวมถึงยังคาดว่าจะมีแรงส่งต่อในอนาคต เมื่อแนวคิดการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ในปัจจุบัน เริ่มกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมยุคใหม่ ส่งผลให้กลุ่มผู้คนที่แม้ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ อาจต้องยอมรับบทบาทที่ตนเองต้องอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการไม่ว่าจะร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ศูนย์การค้า หรือโรงแรมที่พัก ล้วนเริ่มปรับตัวเพิ่ม “โซนต้อนรับสัตว์เลี้ยง” (Pet Friendly) มากขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมพาสัตว์เลี้ยงไปไหนมาไหนด้วยเสมือนเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวอีกคนหนึ่ง
ดังนั้น จากกระแสสังคมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบริบทที่สัตว์เลี้ยงถูกเลี้ยงเสมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวกำลังเริ่มพัฒนากลายเป็น “ส่วนหนึ่งของสังคม” ไปแล้ว ซึ่งช่วยให้การเลี้ยงสัตว์ในอนาคตสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น สถานที่หรือข้อจำกัดด้านการดูแล ทำได้ง่ายขึ้น และเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้คนเริ่มตัดสินใจหันมาเลี้ยงสัตว์ภายใต้สังคมที่เป็นที่มิตรกับสัตว์เลี้ยง และผลักดันมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทยให้เติบโตในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 68)