เนยแพงขึ้นกระทบครัวโลก-ครัวซองต์ หลังผู้แปรรูปนมหันผลิตชีส

เกษตรกรผู้ผลิตนมในยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้านในขณะนี้ ไม่เพียงแต่ต้องลดขนาดฝูงวัวลงจากปัญหาด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังต้องรับมือกับโรคระบาดที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับวัวในฟาร์ม โดยเฉพาะไวรัสบลูทังจ์ (bluetongue) ที่เริ่มแพร่ระบาดในสัตว์ และโรคลัมปีสกิน (lumpy skin disease) ที่กำลังลุกลามเข้าสู่อิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งโรคเหล่านี้ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมของวัวลดลง

แนวโน้มดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมผลิตเนยทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อผู้แปรรูปนมในสหภาพยุโรปได้หันไปมุ่งเน้นการผลิตชีสมากขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตเนยลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปีในฤดูกาลนี้ ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA)

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ยุโรปและนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นแหล่งส่งออกเนยกว่า 70% ของโลก ต่างเริ่มต้นปี 2568 ด้วยปริมาณสต๊อกเนยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งภาวะขาดแคลนอุปทานนี้ได้ผลักดันราคาเนยให้พุ่งสูงจนเข้าใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ปัญหาราคาเนยที่พุ่งขึ้นมีรากฐานมาจากช่วงปี 2565 ซึ่งราคาน้ำนมในยุโรปทะยานขึ้นจากแรงกดดันของเงินเฟ้อและต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น และผู้แปรรูปนมต้องตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์หันไปผลิตชีสที่ให้กำไรมากกว่าแทน ทำให้การผลิตเนยได้รับผลกระทบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 68)