JKN ลุ้นที่ประชุมเจ้าหนี้ 17 ก.ค.ผ่านแผนฟื้นฟูฯ เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจก่อนสิ้นส.ค.68

บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป [JKN] ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลกระทบต่อการดำเนินการต่างๆ และการปรับปรุงระบบควบคุมภายในเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินจากกรณีที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบริษัทและกรรมการอีก 2 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

สถานะและความคืบหน้าในการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเป็นกรณีพีเศษ (Special Audit) ของ JKN ซึ่งบริษัทเคยแจ้งว่าจะสามารถรายงานผลได้ภายในไตรมาส 2/68 นั้น บริษัท สำนักงาน ดร.วิรัช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชี Special Audit แจ้งด้วยวาจาว่า ปัจจุบันเพิ่งสอบทานข้อมูลทางบัญชีแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการสอบทานกระดาษทำการเพื่อจัดทำรายงาน ซึ่งต้องปฏิบัติงานและแสดงความเห็นต่อรายการซื้อลิขสิทธิ์รายการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66-30 มิ.ย.67 รวมถึงการจ่ายชำระค่าลิขสิทธิ์รายการที่มีการซื้อในช่วงระยะเวลาตามที่บริษัทบันทึกบัญชี ซึ่งครอบคลุมตามประเด็นที่ผู้สอบบัญชี บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด ได้ตั้งข้อสังเกต และแจ้งข้อมูลมายังคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ ตามมาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

แต่เนื่องจาก สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นในประเดนเจ้าหนี้ที่เกิดจากรายการซื้อลิขสิทธิ์ ทำให้บริษัท และสำนักงาน ดร.วิรัช จะต้องทบทวนขอบเขต Special Audit เพื่อให้ครอบคลุมตามประเด็นที่ สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อสังเกต ซึ่งจะมีผลต่อระยะเวลาการตรวจสอบและออกรายงาน โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาเกินกว่าไตรมาส 2/68 ที่เคยแจ้งไว้ หากมีความคืบหน้าจะเรียนแจ้งให้ทราบผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ส่วนผลกระทบต่อการฟื้นฟูกิจการผ่าน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ กล่าวโทษ นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ และนางสาวพิมพ์อุมา จักราจุฑาธิบดิ์ ว่าร่วมกันสั่งการสร้างรายการเจ้าหนี้ปลอมและลูกหนี้ปลอม เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการสอบสวน ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาพยานหลักฐานว่าบริษัท นายจักรพงษ์ และ นางสาวพิมพ์อุมา ได้กระทำความผิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำพยานหลักฐานไปแสดงต่อพนักงานสอบสวนตาม กระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการจะยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามที่ได้มีการกล่าวโทษ

สำหรับขั้นตอนในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม กล่าวคือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายแจ้งนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางจะนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ปัจจุบันยังมิได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

อนึ่ง บริษัทได้รับหนังสือจากกองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี สอบถามขั้นตอนการดำเนินการในกรณีที่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันลูกหนี้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีข้อสังเกตว่าการที่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันลูกหนี้ออกจากตำแหน่งจะก่อให้เกิดข้อขัดข้องในการดำเนินกระบวนการฟื้นฟูฯ บริษัทจะจัดทำคำชี้แจงไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายหลังจากจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเสร็จสิ้นแล้ว

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน บริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ได้แก่ บล.เอเซีย พลัส และบล.ดาโอ ประเทศไทย เพื่อขอให้บริษัทดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใด

ส่วนผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ JKN เนื่องจากนายจักรพงษ์ และนางสาวพิมพ์อุมา เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในธุรกิจ ย่อมส่งผลกระทบไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อบริษัท บริษัทได้สรรหากรรมการเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งแทนบุคคลทั้งสองไว้แล้ว แต่ต้องขอความเห็นชอบจากศาลฯก่อน คาดว่าการเปลี่ยนแปลงกรรมการจะแล้วเสร็จใน 15 วันนับจากวันที่ศาลฯ เห็นชอบ สำหรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต บริษัทยังคงต้องรอภายหลังการเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทแล้ว

ในส่วนของการบริหารจัดการนั้น บริษัทอยู่ระหว่างสรรหาผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการแทนผู้บริหารที่พ้นจากตำแหน่ง คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้รับผิดชอบแต่ละสายงานยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ และการดำเนินธุรกิจยังคงมีการจัดการและบริหารงานเป็นไป ตามปกติ

และ เนื่องจากสถานการณ์ตลาดคอนเทนต์ในปัจจุบัน บริษัทจึงมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักจากธุรกิจการ จำหน่ายคอนเทนต์ เป็นธุรกิจการจำหน่ายสินค้า (Commerce) โดยปรับลดการดำเนินธุรกิจคอนเทนต์ซึ่งไม่สามารถสร้างรายได้เช่นในอดีต จึงนำคอนเทนต์ที่ถือครองอยู่มาใช้ประโยชน์โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง JKN18 และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อเป็นการสร้าง Eyeball ดึงดูดให้ผู้ชมเข้าชมในช่องและเห็นรายการขายสินค้าของบริษัทมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสในการขายเพิ่มขึ้น

บริษัทอยู่ระหว่างการปรับกระบวนการทำงานและเพิ่มการควบคุมภายในให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน โดยการเพิ่มเติมขั้นตอนการทำงานในระบบงานที่เกี่ยวกับ ธุรกิจ Commerce ด้วยการนำระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ซึ่งครอบคลุมระบบการจัดซื้อ การขาย การควบคุมสินค้าคงคลัง บัญชีและการเงิน มาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำงาน มีกระบวนการอนุมัติในแต่ละขั้นตอนภายใน ระบบตามอำนาจอนุมัติของสายงาน ซึ่งจะต้องครบถ้วนสมบูรณ์ จึงจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ การนำ ERP มาใช้จึงทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถจัดทำงบการเงินได้ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงเพิ่มเติมดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.68

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 68)