
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และคณะ ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับองค์กรอิสระต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกเหนือจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่จะเสนอให้มีการทำประชามติพร้อมไปกับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขต่าง ๆ
“การแก้ไขเป็นรายมาตราเป็นแนวทางที่สามารถเดินหน้าทำไปได้ โดยจะเสนอให้มีการแก้ไขที่มาและที่ไปขององค์กรอิสระ เพื่อลดการผูกขาดการเลือก และถอดถอนไม่ให้ผูกขาดไว้ที่ สว.” นายณัฐพงษ์ กล่าว
เนื่องจากขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ศุลกากรของสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความคืบหน้า และสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา การป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ และมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีความเข้มแข็งและสมดุลย์
กรณีเกิดกระบวนการนิติสงครามที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการถอดถอนนักการเมื่องที่มาจากการเลือกตั้ง และกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คนที่กระทำผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ เช่น กรณีการฮั้วเลือก สว. และการรับผิดชอบกรณีตึก สตง.ถล่ม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในหลายวิกฤตที่สังคมทวงถามถึงการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระว่าทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และมีความยึดโยงกับประชาชนอย่างไร
ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะได้ตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับรายชื่อและจำนวน สส.ที่ยื่นเรื่องดังกล่าว เพื่อดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน โดยจะเชิญวิปทั้งสามฝ่ายมาหารือกันเพื่อตกลงว่าจะบรรจุวาระดังกล่าวเมื่อไหร่
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ปชน. กล่าวว่า พรรคได้ดำเนินการคู่ขนาน คือ 1.การดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ซึ่งจะต้องอาศัยระยะเวลา และ 2.การดำเนินการรายมาตราในบางประเด็นปัญหาที่สามารถดำเนินการไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว
สำหรับวันนี้จะดำเนินการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา คือ การทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่เป็นอิสระจากประชาชน จำนวน 3 ร่าง ดังนี้
ร่างแรกเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ครอบคลุม 3 ประเด็น คือ 1.ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ปรับกระบวนการสรรหาให้มาจากหลากหลายช่องทาง จากเดิมที่ผ่านคณะกรรมการสรรหาเพียงชุดเดียว
2.เปลี่ยนการคัดเลือก-รับรองไม่ต้องถูกผูกขาดไว้กับ สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมีความยึดโยงกับประชาชน และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยต้องได้รับความเป็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา เกินกึ่งหนึ่งของ สส.ฝ่ายรัฐบาล และเกินกึ่หนึ่งของ สส.ฝ่ายค้าน
และ 3.กระบวนการถอดถอนที่องค์กรภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยประชาชนสามารถเข้าชื่อ 2 หมื่นคนเพื่อยื่นถอดถอนได้ หากร่ำรวยผิดปกติ และหากมีพฤติกรรมทุจริต
ส่วนร่างที่สองและร่างที่สามเป็นการปรับเฉพาะจุด โดยร่างที่สองแก้ไขเฉพาะเรื่องการคัดเลือกรับรอง จากเดิมที่ต้องเห็นชอบกึ่งหนึ่งของวุฒิสภามาเป็นได้รับความเห็นชอบจากสองสภา และร่างที่สามแก้ไขเฉพาะการถอดถอนที่ให้สิทธิ สส.และประชาชนสองหมื่นรายชื่อ
“หวังว่าทุกพรรคการเมืองจะให้ความเห็นชอบที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระนั้นไม่เป็นอิสระจากประชาชน แต่จะเป็นอิสระจากการถูกครอบงำจากกลุ่มก้อนทางการเมือง” นายพริษฐ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้จะเป็นการร่วมลงชื่อเฉพาะ สส.ปชน.ก็ตาม แต่พรรคจะเสนอให้ทุกพรรคการเมืองร่วมพิจารณาด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 68)