
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มของอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ และ ของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ [GPSC] เป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิมที่เป็นลบ และคงอันดับเครดิตที่ ที่ ‘BBB-’ และ ‘A+(tha)’ ตามลำดับ
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิ ของ GPSC จะลดลงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากการชะลอการลงทุนในกลุ่มบริษัท นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงแผนของ GPSC ในการขายหุ้นบางส่วนในธุรกิจร่วมทุนในประเทศอินเดียที่มีการเติบโตสูงคือ Avaada Energy Private Ltd ซึ่งจะช่วยลดการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจร่วมทุนดังกล่าว และส่งผลให้ความกดดันต่อสถานะทางการเงินของ GPSC ลดลง
อันดับเครดิตของ GPSC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย
อันดับเครดิตยังรวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังที่ ‘bb’/‘a-(tha)’ เนื่องจากความสัมพันธ์ของ GPSC กับบริษัทแม่ที่แข็งแกร่งคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ BBB+/แนวโน้มมีเสถียรภาพ)
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) ของ GPSC (รวมถึงการรวมงบการเงินตามสัดส่วนการถือหุ้นใน Avaada-Proportionate Consolidation) จะอยู่ที่ประมาณ 6.0 เท่า ณ สิ้นปี 2568 (2567: 5.5 เท่า) ก่อนที่จะลดลงไปอยู่ที่ 5.7 เท่า ณ สิ้นปี 2571 การลดลงนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดที่มั่นคง การลงทุนในโครงการ Energy Recovery Unit (ERU) ที่ล่าช้าและการชะลอการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ของ Avaada โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เหล่านี้มีความล่าช้าจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการส่งไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอในบางพื้นที่ซึ่งเป็นความท้าทายที่บริษัทผลิตไฟฟ้าในประเทศอินเดียอื่นๆ เผชิญเช่นกัน
เราคาดว่าการลงทุนในโครงการ ERU จะเกิดขึ้นในปี 2572 จากเดิมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2569 อย่างไรก็ตาม เราไม่คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากโครงการจะสร้างกระแสเงินสดได้ในจุดที่มีการเข้าซื้อกิจการตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้ขายซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันกับ GPSC คือ บมจ.ไทยออยล์ [TOP] (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ฟิทช์เชื่อว่า GPSC จะมีความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการดำเนินงานอื่นๆ
การลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Avaada: GPSC ประกาศในเดือนพฤษภาคม 2568 ว่ามีแผนลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Avaada เป็นร้อยละ 39.90 จากร้อยละ 42.93 และคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 เราคาดว่าการตัดสินใจของ GPSC ที่จะจำกัดการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจร่วมทุน จะช่วยในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัท
กระแสเงินสดที่มั่นคง: ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ GPSC (รวมถึงการรวมงบการเงินตามสัดส่วนการถือหุ้นใน Avaada) จะยังมั่นคงในปี 2568 ที่ 2.22 หมื่นล้านบาท (2567: 2.26 หมื่นล้านบาท) ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-2.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2569-2570 เราคาดว่าราคาเชื้อเพลิงจะลดลงเร็วกว่าการปรับอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีแนวโน้มที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT, อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ BBB+/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ได้รับการชดเชยรายได้ที่ค้างรับในช่วงสามถึงสี่ปีข้างหน้า ดังนั้นอัตราส่วนของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) ของ GPSC น่าจะยังคงอยู่ในช่วงร้อยละ 26-33 ในปี 2568-2570 (2567: ร้อยละ 25)
การกระจายแหล่งกระแสเงินสดไปยังธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์: การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างรวดเร็วของAvaada จะมีส่วนช่วยในการเติบโตของ EBITDA ของ GPSC ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ GPSC เป็นมากกว่าครึ่งของกำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นภายในปี 2573 ซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Avaada ซึ่งกำลังผลิตดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 ของ EBITDA ของ GSPC (ซึ่งรวมถึงการรวมงบการเงินตามสัดส่วนการถือหุ้นใน Avaada – proportionate consolidation) ภายในปี 2571
รายได้ที่คาดการณ์ได้ และมั่นคง: GPSC มีรายได้ที่คาดการณ์รายได้ และมั่นคง โดยร้อยละ 40 ของรายได้ในปี 2567 มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) กับ EGAT และร้อยละ 35 มาจากกลุ่ม ปตท. สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจไฟฟ้าที่มีการกำกับดูแลในประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนความต้องการที่มั่นคง ฐานสินทรัพย์ที่มีการกระจายตัวของ GPSC ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักที่โรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง นอกจากนี้ การลงทุนส่วนใหญ่ของ GPSC ในต่างประเทศยังได้รับประโยชน์จากการขายภายใต้สัญญาระยะยาว
ความเสี่ยงด้านราคา: กำไรจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของ GPSC รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่ม ปตท.นั้นอาจได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายไฟฟ้าอยู่บ้าง แม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะกำกับและรักษาค่าไฟฟ้าในประเทศให้มีเสถียรภาพ ดังนั้น ในอดีตบางช่วงเวลาราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น อาจมิได้รับการส่งผ่านอย่างเต็มที่ในการปรับค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ตามผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้รับการชดเชยในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง
ความสัมพันธ์กับบริษัทแม่: ฟิทช์มองว่า GPSC เป็นบริษัทหลักในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของกลุ่มผ่านการเติบโตในพลังงานหมุนเวียน ฟิทช์ประเมินแรงจูงใจเชิงกลยุทธ์ของ ปตท. ในการสนับสนุน GPSC ว่าอยู่ในระดับปานกลาง สะท้อนถึงการที่ธุรกิจของ GPSC มีความสอดคล้องกับแผนการขยายพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม แรงจูงใจด้านการดำเนินงานในระดับปานกลางสะท้อนถึงบทบาทของ GPSC ในฐานะผู้จัดหาไฟฟ้าและไอน้ำให้กับบริษัทในเครือของ ปตท. นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงการถือหุ้นส่วนใหญ่ของ ปตท. การบริหารจัดการร่วมกัน และประวัติการสนับสนุนทางการเงินรวมถึงเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นสำหรับการลงทุนในอินเดียและไต้หวัน
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตสากลระยะยาว
สถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC ที่ ‘bb’ สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ PetroVietnam Power Corporation- Joint Stock Company (PV Power; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อันดับที่สองในประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สถานะทางการเงินของ GPSC อ่อนแอกว่าอย่างชัดเจน โดยมีอัตราส่วน EBITDA net leverage อยู่ที่ประมาณ 5.5 เท่า-6.0 เท่า ซึ่งสูงกว่า PV Power ที่มีอัตราส่วน EBITDA net leverage อยู่ที่ประมาณ 2.0 เท่า-3.5 เท่า ดังนั้น PV Power จึงมีอันดับเครดิตสูงกว่า อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC หนึ่งระดับ
NTPC Limited (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BBB-’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย มีสถานะเครดิตโดยลำพังที่ ‘bbb’ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่า GPSC สามระดับ สะท้อนถึงกำไรจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอจากกรอบการกำกับดูแลที่อนุญาตให้ส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงต้นทุนไปยังราคาขายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ NTPC ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
สถานะเครดิตโดยลำพังในประเทศของ GPSC ที่ ‘a-(tha)’ สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘BBB(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) โดย GPSC มีการกระจายตัวของสินทรัพย์ที่ดีกว่าและมีรายได้และกำไรที่สูงกว่า นอกจากนี้ BAFS ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมการบิน ส่งผลให้รายได้อ่อนแอและมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูง ดังนั้นสถานะเครดิตภายในประเทศโดยลำพังของ GPSC จึงสูงกว่า BAFS สองระดับ
ทั้ง GPSC และบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ได้รับประโยชน์จากรายได้ที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ เนื่องจากการแข่งขันที่ต่ำและลักษณะของสัญญาของบริษัท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วน EBITDA net leverage ของ GPSC อยู่ในระดับสูงกว่า NNEG เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนมากกว่า ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตโดยลำพังอยู่ในระดับเดียวกันแม้ว่า GPSC จะมีสถานะทางธุรกิจและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่า
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
– EBITDA รวมของ GPSC จะยังคงมีความมั่นคงในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-2.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2569-2570 (2567: 2.26 หมื่นล้านบาท)
– EBITDA Margin รวมจะยังคงมีความมั่นคงที่ร้อยละ 26 ในปี 2568 และปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 31-33 ในปี 2569-2570 (2567: ร้อยละ 25)
– ค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นในช่วงปี 2568-2570 อยู่ที่ประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่สำหรับการขยายกำลังการผลิตของ Avaada และโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าประเภท SPP
– จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 สำหรับ GPSC และไม่มีการจ่ายเงินปันผลสำหรับ Avaada
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 68)