PTTEP บวกสวนตลาด โบรกมองราคาน้ำมันลงกระทบช่วงสั้น เก็ง Q2/68 ยอดขายเพิ่ม-หวังปันผลปีนี้ 8%

หุ้น PTTEP บวก 0.93% สวนตลาด มาอยู่ที่ 108.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 472.73 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.23 น. โดยเปิดตลาดที่ 107.50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 109.00 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 107.00 บาท

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) (CGSI) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลงต่ำกว่า 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพราะ premium จากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ลดลง หลังอิสราเอล-อิหร่านบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ขณะที่ตามรายงานของ Reuters (30 มิ.ย.) กลุ่ม OPEC+ เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีกรอบในเดือนส.ค.68 ซึ่งน่าจะทำให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดโลกจนถึงไตรมาส 4/68

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่โรงกลั่นทั่วโลกมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงและสต็อกตึงตัว (ทั้งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมัน) จะยังช่วยพยุงราคาน้ำมันดิบไปอีก 2-3 เดือน โดย PTTEP ระบุว่าบริษัทมีสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอีก 6 ล้านบาร์เรล ณ สิ้นไตรมาส 2/68 ซึ่งจะชำระราคาทั้งหมดภายในปี 68 ฝ่ายวิเคราะห์ฯ จึงประมาณการว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ประมาณการ EPS ในปี 68 ของ PTTEP เพิ่มขึ้น 1.3% ในทางกลับกัน

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เชื่อว่า การที่ไตรมาส 2/68 ไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโครงการ G1 (เอราวัณ) และการถือหุ้นเพิ่มในโครงการสินภูฮ่อมจะทำให้ PTTEP มีปริมาณขายเพิ่มขึ้นจาก 4.84 แสนบาร์เรล/วันในไตรมาส 1/68 เป็น 5.02 แสนบาร์เรล/วันในไตรมาส 2/68

นอกจากนี้ PTTEP น่าจะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเหลว (น้ำมัน/คอนเดนเสท) เพิ่มมากขึ้น เพราะโครงการของบริษัทในตะวันออกกลางมีการโหลดน้ำมันตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ราคาขายเฉลี่ยของ PTTEP น่าจะลดลงเหลือ 43.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/68 จาก 45.76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงแรง

ด้านค่าใช้จ่ายในการปิดซ่อมบำรุงโครงการ G1 ทำให้ PTTEP ให้แนวทางว่าค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (DD&A) น่าจะเพิ่มขึ้น 0.5-1.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนต่อหน่วยสูง (มากกว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) ในไตรมาส 2/68 อย่างไรก็ตาม PTTEP เชื่อว่าแผนลดต้นทุนน่าจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในปี 68 อยู่ที่ไม่เกิน 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นอกจากนี้ PTTEP เผยว่าจะบันทึกค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐจากโครงการ Mexico Block 29 ซึ่งขายให้กับ Repsol Exploration Mexico เพราะ PTTEP มองว่ารัฐบาลอาจอนุมัติโครงการนี้ล่าช้า อีกทั้งที่ตั้งโครงการไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทอีกต่อไป

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 12.6% YTD จึงทำให้ราคาหุ้น PTTEP underperform ดัชนี SET 13.4% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มกำไรช่วง 6 เดือนข้างหน้ายังมีแรงหนุนจากราคาก๊าซที่ยืดหยุ่น และเนื่องจากราคาน้ำมันดิบ Brent ยังอยู่ในกรอบ 65-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จึงมองว่า PTTEP มีความเสี่ยงที่จะต้องบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์ปิโตรเลียมจำกัด ยกเว้นโครงการ Mozambique LNG (มูลค่าทางบัญชีเหลืออยู่ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 2/68) หากยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างภายในครี่งปีหลังนี้

ยังแนะนำ “ซื้อ” PTTEP เพราะอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 8% ในปี 68 ยังน่าสนใจ นอกจากนี้ การที่บริษัทมีสถานะเงินสดสุทธิยังทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลสูง 8-9 บาทต่อหุ้น โดยมองว่าปัจจัยที่ช่วยหนุนคือต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าคาด ส่วน downside risk จะมาจากปริมาณขายปิโตรเลียมที่น้อยกว่าคาด

ด้าน บล.กสิกรไทย คงคำแนะนำ “ถือ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายลงเป็น 113.0 บาท จาก upside ที่จำกัดและแนวโน้มราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง คาดอัตราตอบแทนเงินปันผลที่ 6-7% จะหนุนราคาหุ้นให้เติบโตต่อไปได้

คาดกำไรไตรมาส 2/68 จะลดลงทั้ง YoY และ QoQ เป็น 1.3 หมื่นลบ. ตาม ASP ที่ลดลง ต้นทุนต่อหน่วยที่สูงอย่างต่อเนื่องและค่าตัดจำหน่ายจำนวน 50 ล้านดอลลาร์ฯ ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 68-70 ลง 13-18% จากสมมติฐานราคาน้ำมันที่ลดลง ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สูงขึ้น เงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และรายการพิเศษอื่นๆ คาดปันผลจะอยู่ตามเดิมที่ 7-8 บาท/หุ้นจากอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 68)