
จากกรณีที่สหรัฐฯ ได้แจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.68 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สูงกว่าที่ภาคเอกชนประเมินไว้ และสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม (20%) อินโดนีเซีย (32%) และมาเลเซีย (25%) ซึ่งสะท้อนว่าไทยกำลังเสียเปรียบในเชิงการแข่งขัน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในเบื้องต้นอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทยอาจอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท
“แม้ว่าข้อเสนอแรกของไทยจะถูกส่งไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค.68 และมีการลงนามในเช้าวันที่ 7 ก.ค.68 อาจสวนทางกับประกาศของสหรัฐฯ ที่แจ้งมา ขณะนี้ไทยได้ส่งข้อเสนอที่ 2 ไปแล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากข้อเสนอแรก โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะลดภาษีให้เป็น 0% ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายการ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปนั้นยังไม่มีการตอบกลับมา แต่เชื่อว่า หากสหรัฐฯ ได้พิจารณาอีกครั้งในข้อเสนอเพิ่มเติมใหม่นี้ น่าจะมีผลไปในทิศทางบวก” นายเกรียงไกร กล่าว
สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้ ส.อ.ท.จะมีการประชุมเร่งด่วนภายในร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ก่อนเพื่อประเมินผลกระทบเป็นรายกลุ่ม และจัดทำมาตรการรองรับที่เหมาะสม หลังจากนั้นในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะรีบเร่งประชุมร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการตั้งรับต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 68)