“เผ่าภูมิ” ยอมรับศก.ไทยครึ่งปีหลังแผ่วแน่ หวังนโยบายการเงินช่วยเหยียบคันเร่ง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศ ที่มีความท้าทายมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ออกมาเพื่อช่วยการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจากนโยบายการคลัง จากการเร่งอัดฉีดเม็ดเงิน 1.15 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเข้าสู่ระบบอย่างมากในช่วงไตรมาส 4/68 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1/69 รวมไปถึงนโยบายการเงิน

รมช.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา นโยบายการคลังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนนโยบายการเงินก็ต้องพิจารณาความเหมาะสม และต้องดูให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลัง ยังยืนยันว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันนั้น ทั้ง 2 นโยบาย ทั้งการเงินและการคลัง จะต้องเหยียบคันเร่งไปพร้อม ๆ กัน

“นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง จะต้องไปด้วยกัน แต่ที่ผ่านมา นโยบายการคลังเราเหยียบคันเร่งตลอด และเราก็คาดหวังว่านโยบายการเงินจะมองไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าถามว่า สถานการณ์ตอนนี้จำเป็นจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มหรือไม่ เรื่องนี้อยู่ที่การพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เช่นเดียวกับสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งเรื่องนี้มีผลโดยตรงต่อภาคการส่งออก การทำให้ค่าเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นหน้าที่ของ ธปท. และกนง. จะพิจารณา” รมช.คลัง กล่าว

พร้อมมองว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว นโยบายการเงินไม่ได้มีแค่เรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการกระจายเม็ดเงิน กระจายสินเชื่อ กระจายสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ซึ่งหมายรวมถึงการทำให้เงื่อนไขต่าง ๆ ผ่อนปรน ทำให้สถาบันการเงินสามารถมีแรงจูงใจในการกระจายสินเชื่อและสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ

สะท้อนจากมาตรการ LTV ที่มีการเรียกร้องมานานว่าเงื่อนไขต่าง ๆ เข้มข้นเกินไปสำหรับระบบเศรษฐกิจที่ยังต้องการการกระตุ้น, มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่ต้องดูให้เหมาะสม เพราะบางกรอบเหมาะกับบางช่วงเวลา และบางกรอบก็จะเข้มข้นไปสำหรับบางช่วงเวลา ดังนั้น มองว่าการผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับการเจรจาภาษีสหรัฐฯ นั้น รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการทำงาน ยืนยันว่ารัฐบาลต้องทำให้ดีที่สุด โดยต้องยอมรับว่า ก่อนจะมีจดหมายแจ้งการจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% จากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น แนวโน้มการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2568 มีสูงมาก แต่เมื่อมีจดหมายดังกล่าวเข้ามา ทำให้รัฐบาลต้องมาพิจารณาปัจจัยบวก และปัจจัยลบเพิ่มเติม

“จดหมายดังกล่าวจากสหรัฐฯ ยังไม่ใช่บทสรุป แต่เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราต้องทำงานกันหนักขึ้น โดยในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.68 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะปรับประมาณการ GDP ไทยปี 2568 อีกครั้ง โดยยังต้องรอดูว่าบทสรุปสุดท้ายแล้ว อัตราภาษีสหรัฐฯ จะออกมาที่เท่าไร ดังนั้นระหว่างนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำงานหนัก และทำงานอย่างเต็มที่” รมช.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลยังมีงบประมาณอีกราว 4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจากการจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท โดยงบที่เหลือนี้ ต้องมาดูถึงผลกระทบและผลสุดท้ายของภาษีสหรัฐฯ ว่าจะรุนแรงขนาดไหน และเม็ดเงินที่เหลือนี้จะกันไว้ลงไปช่วยเหลือในส่วนใดบ้าง เพื่อเป็นการโอบอุ้มเศรษฐกิจไทยให้สามารถต่อสู้กับความท้าทายต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาในฉากทัศน์ต่าง ๆ อย่างรอบคอบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 68)