
สิงคโปร์ยังคงเดินหน้าเจรจาความร่วมมือด้านเครดิตคาร์บอนกับประเทศในอาเซียน และตั้งเป้าจะสามารถลงนามในข้อตกลงการโอนเครดิตคาร์บอนฉบับแรกภายในสิ้นปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับเวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ และล่าสุดคือมาเลเซีย ทว่าเอกสารเหล่านี้ยังไม่ได้นำไปสู่การลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล
ภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคกำลังผลักดันความร่วมมือผ่านการจัดตั้งกรอบการทำงานคาร์บอนร่วมอาเซียน (Asean Common Carbon Framework) ซึ่งเปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยมีสมาคมตลาดคาร์บอนจาก 4 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วม โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบรวมศูนย์สำหรับซื้อขายเครดิตคาร์บอนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนการวางโครงสร้างการบริหาร หารือวิธีการ และกำหนดแผนดำเนินงาน
เบเนดิกต์ เซีย ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสำนักงานสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยว่า สิงคโปร์อยู่ระหว่างการหารือขั้นสูงกับหลายประเทศในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย โดยคาดหวังว่าจะสามารถขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมภายในปีนี้
เซียกล่าวถึงแนวทางการเลือกความร่วมมือว่า สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับโครงการที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศเจ้าภาพ มีการมีส่วนร่วมของธุรกิจท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ต้องได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
ตามมาตรา 6 ของข้อตกลงปารีส สิงคโปร์จะสามารถใช้เครดิตคาร์บอนจากประเทศคู่สัญญาเพื่อนำไปใช้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ ก็ต่อเมื่อมีการลงนามข้อตกลงการโอนเครดิตอย่างเป็นทางการ ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้มีสถานะเป็นกรอบทางกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนในการผลิตและโอนเครดิตคาร์บอนระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ลงนามในข้อตกลงลักษณะดังกล่าวกับประเทศนอกภูมิภาคจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ ปาปัวนิวกินี กานา ภูฏาน เปรู ชิลี รวันดา และปารากวัย แต่สำหรับประเทศในอาเซียนยังไม่เกิดการลงนามข้อตกลงโอนเครดิตคาร์บอนอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
เซียกล่าวถ้อยแถลงนี้ระหว่างเข้าร่วมเวทีเสวนาในการประชุมสุดยอดภูมิอากาศเอเชีย ซึ่งจัดโดยสมาคมการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซระหว่างประเทศ (IETA) เมื่อวันพุธ (9 ก.ค.)
สำหรับเครดิตคาร์บอน (Carbon Credit) นั้นคือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งสามารถซื้อขายกันได้ระหว่างประเทศ องค์กร หรือบริษัทต่าง ๆ ในระบบตลาดคาร์บอน
ทั้งนี้ 1 เครดิตคาร์บอนเท่ากับ 1 ตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดหรือดูดซับได้ หากองค์กรหนึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็สามารถขายส่วนที่เกินออกมาเป็นเครดิตคาร์บอนได้ ขณะที่อีกองค์กรที่ปล่อยเกิน ก็จะต้องซื้อ เครดิตจากองค์กรอื่น เพื่อชดเชยการปล่อยเกินกำหนดของตนเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 68)