กกต.โต้ข่าวลือ ชงชุดใหญ่เคาะ “คดีฮั้ว สว.” 14 ก.ค.ไม่จริง! ยันสำนวนเพิ่งอยู่ขั้นแรก

รายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ตามที่สื่อมวลชน และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ รายงานข่าวว่า “คณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง ชุดที่ 26 เตรียมเสนอสำนวนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหญ่

เพื่อฟ้องผู้เกี่ยวข้องกับคดีฮั้วการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 229 ราย ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2568″ นั้น

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยสำนวนดังกล่าว ขณะนี้ยังอยู่ใน “ขั้นตอนที่ 1” ชั้นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง ชุดที่ 26 ที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และระยะเวลาที่ขยาย ซึ่งจะครบกำหนดการขอขยายระยะเวลาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 สำนวนดังกล่าวจึงยังไม่ได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

การพิจารณาสำนวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 มีขั้นตอนการพิจารณาออกเป็น 4 ชั้น ดังนี้

  • ชั้นที่ 1 เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ได้รับสำนวนแล้ว ให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน และจัดทำความเห็น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้จัดส่งสำนวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ส่วนกลาง) โดยเร็ว
  • ชั้นที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ส่วนกลาง) ได้รับสำนวนแล้ว ให้พนักงานสืบสวนและไต่สวนผู้รับผิดชอบสำนวนดำเนินการวิเคราะห์สำนวน และจัดทำความเห็นเสนอผ่านผู้อำนวยการฝ่าย รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนัก และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับมอบหมาย)
  • ชั้นที่ 3 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เมื่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ได้พิจารณาแล้วจะทำความเห็น และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสนอสำนวนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา
  • ชั้นที่ 4 คณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับสำนวนจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งแล้ว ต้องพิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการโดยเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง ชุดที่ 26 ได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ต้องเสนอสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อดำเนินการต่อไป (ชั้นที่ 2)

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอความร่วมมือสื่อมวลชน และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก่อนเผยแพรให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 68)