EU ชะลอมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ถึงเดือนส.ค. หลังโดนทรัมป์ขู่รีดภาษี 30%

สหภาพยุโรป (EU) ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (13 ก.ค.) ว่าจะขยายเวลาการระงับมาตรการตอบโต้ทางภาษีต่อสหรัฐฯ ออกไปจนถึงต้นเดือนส.ค. และจะเดินหน้าเจรจาต่อไป หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศคู่ค้ายอมอ่อนข้อมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ปธน.ทรัมป์ประกาศเมื่อวันเสาร์ (12 ก.ค.) ว่า เขาจะเรียกเก็บภาษี 30% กับสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จาก EU และเม็กซิโก ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป ทำให้ทุกฝ่ายมีเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ในการหาข้อตกลงเพื่อลดหย่อนอัตราภาษีดังกล่าว

เควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของทำเนียบขาว กล่าวกับรายการ “This Week” ของสถานี ABC ว่า ข้อเสนอจากประเทศต่าง ๆ ยังไม่เป็นที่พอใจของปธน.ทรัมป์ และย้ำว่า “ภาษีนี้จะเกิดขึ้นจริง” หากไม่มีข้อเสนอที่ดีกว่านี้

“ท่านประธานาธิบดีเห็นว่าข้อตกลงต่าง ๆ ควรจะดีกว่านี้ และเพื่อเป็นการขีดเส้นตาย ท่านจึงได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังทุกฝ่าย และเราคงต้องรอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร” แฮสเซตต์กล่าว

ด้านเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งดูแลนโยบายการค้าของ 27 ชาติสมาชิก กล่าวว่า EU จะยังคงดำเนินนโยบายสองแนวทาง คือเปิดโต๊ะเจรจาควบคู่ไปกับการเตรียมมาตรการตอบโต้

“เราแสดงจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่าต้องการหาทางออกผ่านการเจรจา และเราจะใช้เวลาที่มีอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด” ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวในงานแถลงข่าว ซึ่งท่าทีดังกล่าวสะท้อนว่า EC ต้องการหลีกเลี่ยงสงครามการค้าที่บานปลาย ตราบใดที่ยังพอมีโอกาสเจรจาต่อรอง

นายกรัฐมนตรีฟรีดริช แมร์ซ แห่งเยอรมนี กล่าวว่า เขามีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะหาทางออกร่วมกับสหรัฐฯ และจะทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับฟอน เดอร์ เลเยน และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ในช่วงสองสัปดาห์ครึ่งข้างหน้านี้

เมื่อถูกถามถึงผลกระทบจากภาษี 30% นายกฯ แมร์ซตอบว่า “หากเรื่องนั้นเกิดขึ้นจริง เราคงต้องพักแผนนโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไว้ก่อน เพราะมันจะกระทบทุกอย่างและส่งผลรุนแรงถึงแกนกลางอุตสาหกรรมส่งออกของเยอรมนี”

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์ได้กลายเป็นบททดสอบความเป็นปึกแผ่นของชาติสมาชิก โดยฝรั่งเศสมีท่าทีแข็งกร้าวกว่าเยอรมนี ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกสูง

ปธน.มาครง กล่าวว่า EC จำเป็นต้อง “แสดงความมุ่งมั่นของสหภาพในการปกป้องผลประโยชน์ของยุโรปอย่างเด็ดเดี่ยว” และอาจต้องพิจารณาใช้ “เครื่องมือต่อต้านการบีบบังคับ”

ขณะเดียวกัน ลาร์ส คลิงเบล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนี กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Sueddeutsche Zeitung ว่า “หากการเจรจาอย่างเป็นธรรมไม่สำเร็จ เราก็ต้องใช้มาตรการตอบโต้ที่เด็ดขาดเพื่อปกป้องตำแหน่งงานและบริษัทต่าง ๆ ในยุโรป”

แม้ EU จะยังไม่ตอบโต้ แต่ก็ได้เตรียมมาตรการไว้แล้ว 2 ชุด ซึ่งอาจกระทบสินค้าสหรัฐฯ รวมมูลค่า 9.3 หมื่นล้านยูโร โดยชุดแรกคือ การตอบโต้ภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ กระทบสินค้าสหรัฐฯ 2.1 หมื่นล้านยูโร ซึ่งถูกระงับไว้ชั่วคราวเพื่อเปิดทางเจรจา และชุดที่สองคือ การตอบโต้ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” (Reciprocal Tariff) ของทรัมป์ โดยมุ่งเป้าไปที่สินค้าสหรัฐฯ 7.2 หมื่นล้านยูโร แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด

ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวว่า การใช้ “เครื่องมือต่อต้านการบีบบังคับ” ซึ่งเป็นเครื่องมือตอบโต้ประเทศที่ใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อประเทศสมาชิก EU ยังไม่ถูกนำมาพิจารณาในขณะนี้ โดยกล่าวว่า “เครื่องมือนี้สร้างขึ้นสำหรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติจริง ๆ ซึ่งเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น”

ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ EU ได้พยายามหาพันธมิตรการค้าใหม่ โดยฟอน เดอร์ เลเยน ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงทางการเมืองเพื่อเดินหน้าข้อตกลงการค้ากับอินโดนีเซียแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)