หากเจรจาภาษีสหรัฐฯ ไม่ทันเส้นตาย 1 ส.ค. ศก.ไทยเสี่ยงทั้งส่งออก-ลงทุน-บริโภค

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตามที่สหรัฐฯ ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ให้กับประเทศคู่ค้าอย่างเป็นทางการ และเลื่อนวันเริ่มบังคับใช้ไปเป็น 1 ส.ค.68 จากเดิม 9 ก.ค.68 โดยไทยเป็นประเทศในกลุ่มแรกที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสหรัฐฯ ว่าจะถูกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% เท่ากับที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.นั้น

SCB EIC มองว่าประเทศที่ได้รับหนังสือฯ จากสหรัฐฯ เป็นกลุ่มแรกนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่ค้าหลักและเกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง รวมถึงสหรัฐฯ อาจมองว่าตนมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า และอยากเร่งการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานให้ได้ข้อสรุปที่ดีต่อสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งการที่สหรัฐฯ คงอัตราภาษีตอบโต้ไทยที่ 36% แต่ลดให้บางประเทศคู่แข่งของไทย นับเป็นสัญญาณน่ากังวล จึงตั้งข้อสังเกตดังนี้

1. ไทยโดนอัตราภาษีตอบโต้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน (28% หากไม่รวมไทย) ค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชีย (19%) และค่าเฉลี่ยโลก (16%)

2. ไทยมีพัฒนาการในการเจรจาสหรัฐฯ ค่อนข้างช้ากว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม ที่เร่งเจรจาหลายรอบจนได้ข้อสรุปดีลกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. สามารถต่อรองลดอัตราภาษีตอบโต้จาก 46% เหลือเพียง 20% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม และเหลือ 40% สำหรับสินค้าสวมสิทธิการส่งออกจากเวียดนาม (Transshipping tariff)

3. ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ หากโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ที่ 36% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีตอบโต้ล่าสุดของสินค้าจีน (30%) และสินค้าเวียดนาม (20%) ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงคู่แข่งในอาเซียนที่ยังไม่ได้ดีลกับสหรัฐฯ แต่พยายามเร่งเจรจาในช่วงนี้ เพื่อให้เสียภาษีตอบโต้ต่ำลงกว่าอัตราปัจจุบัน หรือเสียอัตราต่ำกว่าสินค้าจีนหรือเวียดนาม เพื่อไม่ให้เสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ มากนัก

ขณะที่ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ ที่ไปเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ระบุว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอปรบปรุงใหม่ให้สหรัฐฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค. โดยข้อเสนอใหม่นี้ ไทยจะลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลง 70% ใน 5 ปี และสมดุลการค้ากับสหรัฐฯ ให้ได้ภายใน 7-8 ปี ซึ่งเร็วขึ้นกว่าข้อเสนอเดิม นอกจากนี้ ไทยเสนอเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด เหลืออัตรา 0% และลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงเพิ่มการจัดซื้อพลังงานและเครื่องบินจากบริษัทของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอใหม่นี้จากไทยก่อน จึงทำให้ส่งหนังสือแจ้งกลับมาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ว่าจะเก็บภาษีจากสินค้าไทยในอัตราเดิมที่ 36%

 

  • นัยต่อเศรษฐกิจไทย

1. ผลกระทบต่อสินค้าส่งออก

SCB EIC ประเมินความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในเบื้องต้น พบว่า หากไทยเจรจาขอลดภาษีกับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ หรือเจรจาลดภาษีลงได้บางส่วน แต่คาดว่าอัตราภาษีที่ไทยจะถูกจัดเก็บจะยังสูงกว่าคู่แข่งอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจอ่อนแอลง ผลจากต้นทุนทางการค้าที่สูงกว่าคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะในหมวดสินค้าดังนี้

– สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์

– สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า

– สินค้ากลุ่มยางล้อ

– สินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูป โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง

สำหรับการรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้บริบทการค้าโลกผันผวนเช่นนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้า พัฒนานวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงต้องเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง ควบคู่กับการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกิจกรรมสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ที่อาจทำให้สินค้าไทยถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากไทยในอนาคต

 

2. ผลกระทบจากการถูกกดดันให้เปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ

ความคืบหน้าของผลการเจรจาไทยกับสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดในช่วงข้างหน้า หากไทยเจรจาสำเร็จ อาจนำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการทางภาษี และช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ส่งออกไทย อย่างไรก็ดี ยังต้องพิจารณาผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรม หากไทยถูกกดดันให้เปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และปศุสัตว์

โดยตลาดสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ และวัตถุดิบอาหารสัตว์ จัดว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจไทยที่มีความอ่อนไหวต่อการเจรจากับสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มองว่าได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากไทย ทั้งจากกำแพงภาษีสูง และข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ด้านต่าง ๆ เช่น เนื้อสุกร ซึ่งไทยกำหนดภาษีนำเข้าไว้ 40% และสหรัฐฯ ถูกแบนการนำเข้าจากไทยในประเด็นการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้พยายามผลักดัน และกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้านี้มาโดยตลอด

SCB EIC ประเมินว่า อุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และข้าวโพดของไทย มีความอ่อนไหวสูง หากภาครัฐจำเป็นต้องเปิดตลาดเสรีให้สหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่สุด) เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ประกอบกับโดยปกติแล้ว ไทยใช้ผลผลิตภายในประเทศเป็นหลัก และมีผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก

ดังนั้น หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้ เพื่อแลกกับการลดอัตราภาษีตอบโต้ลง ผู้ผลิตในประเทศและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต จะได้รับผลกระทบในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่มีต้นทุนสูง และเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ในไทย เนื่องจากต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

สำหรับกลุ่มเนื้อวัว เป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวในระดับปานกลาง เนื่องจากแม้ต้นทุนการผลิตในไทยจะสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเนื้อวัว และเครื่องในจากต่างประเทศอยู่แล้ว จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับคู่ค้าอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งหากไทยต้องเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เพิ่มเติม ก็จะทำให้กลุ่มผู้ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะเนื้อวัวเกรดพรีเมียม

ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่ำ เช่น ถั่วเหลือง, ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่ในปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ และในวงจำกัด

SCB EIC มองว่า ในระยะสั้น ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ ให้ถี่ถ้วนรอบด้าน โดยการเจรจาเพื่อขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุลเป็นหลัก ทั้งประโยชน์ที่ได้จากภาษีที่ขอลดลง และผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่จะได้รับจากสินค้าภายนอกประเทศที่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเปิดตลาดสินค้าในประเทศ อาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรี พร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้น และการหาตลาดใหม่ ผ่านวงเงินภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 157,000 ล้านบาทที่ยังเหลืออยู่

ส่วนในระยะยาว ภาครัฐควรเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ อาทิ ส่งเสริมมาตรฐานฟาร์มและโรงงาน การปรับกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์เทรนด์ ESG หรือการลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ทั้งนี้ ไทยควรกำหนด “Red Line” ที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว

 

3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

แม้ล่าสุด อัตราภาษีนำเข้าที่ทำเนียบขาวสหรัฐฯ แจ้งจะเก็บจากสินค้าไทยอยู่ที่ 36% แต่ SCB EIC ประเมินว่า ในระยะข้างหน้า ประเทศไทยจะสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ขอปรับลดอัตราภาษีตอบโต้นี้ลงได้บ้าง แต่อัตราภาษีจะยังสูงกว่าคู่แข่งสำคัญในอาเซียน-5 ได้แก่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

1) ล่าสุด สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงกว่าอาเซียน-5 โดยไทยโดนอัตราภาษีตอบโต้ที่ 36% ขณะที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดนอัตราภาษีที่ 32%, 25%, 20%, 20% และ 10% ตามลำดับ นอกจากนั้น ประเทศเหล่านี้ยังมีโอกาสเจรจาขอลดภาษีลงได้อีก ซึ่งจะยิ่งทำให้อัตราภาษีต่ำกว่าไทย ยกเว้นแต่ว่าข้อเสนอของไทยจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากกว่ามาก

2) การเข้าถึงตลาดและการเปิดการลงทุนที่เอื้อประโยชน์สหรัฐฯ กรณีเวียดนาม ยอมเปิดตลาดทั้งหมดให้สหรัฐฯ โดยเสรี และลดภาษีนำเข้าเหลืออัตรา 0% ขณะที่ไทย แม้จะยื่นข้อเสนอใหม่ ยอมเปิดตลาดสินค้าหลายรายการมากขึ้น แต่ยังต้องการปกป้องสินค้าบางรายการที่อาจกระทบผู้ผลิตภายในประเทศอยู่

 

  • หากไทยโดนภาษีสูงกว่าคู่แข่ง ศก.เสี่ยงทั้งภาคส่งออก-ลงทุน-บริโภค

SCB EIC ระบุว่า อัตราภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ที่อาจเก็บจากไทยในอัตราสูงกว่าประเทศคู่แข่งนั้น จะเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านองค์ประกอบหลัก คือ

1. การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มแผ่วลงในครึ่งปีหลัง โดยอาจเริ่มเห็นมูลค่าการส่งออกพลิกกลับมาหดตัวในช่วงปลายไตรมาส 3/68 และอาจหดตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4/68

2. การลงทุนภาคเอกชน จะกลับมาหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากการชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีแผนจะลงทุนในไทย เพื่อรอดูความชัดเจนจากผลการเจรจาการค้าเทียบกับคู่แข่งสำคัญ นอกจากนี้ กำลังซื้อในประเทศที่จะชะลอลงอีก จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังในระยะต่อไป

3. การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง และจะชะลอลงแรงขึ้นในช่วงสิ้นปีที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ แรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การจ้างงานที่ลดลง กระทบต่อต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลง ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว

พร้อมกันนี้ ยังประเมินว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ กล่าวคือ ครั้งแรกในเดือนส.ค. และอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นปี 2568 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.25% และหากการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยไทยถูกเรียกเก็บในอัตรา 36% เท่าเดิมนั้น กรณีนี้อาจเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่า 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้

อย่างไรก็ดี SCB EIC อยู่ระหว่างติดตามการประกาศ US Reciprocal Tariffs กับคู่ค้าที่เหลือของสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยมีกำหนดจะเผยแพร่มุมมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 และ 2569 ใหม่ในวันที่ 18 ก.ค.นี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)