
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวงานฟอรั่มเศรษฐกิจ “จัดทัพลงทุนฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง”ว่า สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเปิดโอกาสให้ไทยเจรจาลดอัตราภาษีนำเข้า 36% ซึ่งจากการวิเคราะห์รูปแบบการกำหนดภาษีของสหรัฐฯ พบว่า ประเทศที่รัฐบาลทรัมป์ปัดเข้าตัวเลขกลม ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ที่ปรับจาก 17% เป็น 20% หรือญี่ปุ่นจาก 24% เป็น 25% มักเป็นประเทศที่ไม่มีพื้นที่เจรจาแล้ว ขณะที่ไทยและอินโดนีเซีย (32%) ยังถูกคงไว้ในอัตราที่ไม่ใช่ตัวเลขกลม สะท้อนถึงความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะเจรจาต่อไป
แต่หากสหรัฐฯ ไม่ยินยอมปรับเปลี่ยนอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยจาก 36% ก็จะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศสูง และผู้ประกอบการรายย่อยของไทยยังต้องรับมือกับการทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีน รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เมื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงจากอัตราภาษี 36% ที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลของทรัมป์ มีโอกาสน้อยมากที่จะยกเลิกมาตรการภาษีออกไป หรือปรับลดอัตราลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังการประมาณการณ์เบื้องต้นระบุว่ามาตรการภาษีที่ทรัมป์เคยประกาศไป จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศในปีนี้ถึง 3 แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมากกว่านี้ถ้าหากทรัมป์เริ่มใช้อัตราภาษีใหม่
นายกอบศักดิ์ มองว่า ทรัมป์ยังคงฟังเสียงจากตลาดทุนสหรัฐฯ อยู่ ถึงแม้จะเคยออกมาพูดมาว่าไม่สนใจ แต่การประกาศเลื่อนเส้นตายวันเก็บภาษีก็สอดคล้องกับวันที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงมาหนัก ซึ่งในตอนนี้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ก็ไม่ได้แตกต่างกับก่อนทรัมป์ประกาศภาษีมาก และ NASDAQ ก็แตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์แล้ว รวมถึงดัชนีวัดความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ (VIX Index) ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงคาดว่ามาตรการภาษีจะยังไปได้ต่อ
ด้านนายชยนนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลน.ฟินโนมีนา เสริมว่า รายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จำเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐบาลทรัมป์ หลังได้ผ่านร่างกฎหมาย “One Big Beautiful Bill” ที่เพิ่มการใช้จ่ายขนาดใหญ่มูลค่ารวมหลายล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่หนี้สาธารณะยังสูง ซึ่งรายได้ภาษีตอบโต้ทางการค้าจะช่วยทดแทนตรงนี้บางส่วนได้
และแนะนำว่าหุ้นสหรัฐฯ ไม่เหมาะที่จะถือ ถึงแม้ดัชนีต่าง ๆ จะไปต่อได้ดี โดยนักลงทุนอาจจะยังเลือกไม่สนใจความเสี่ยงทางการค้าในช่วงนี้ไปก่อน แต่ก็มีสัญญญาณชัดเจนว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังจะมีปัญหา โดยอ้างอิงจากตัวชี้วัด Buffett Indicator ซึ่งจะนำมูลค่ารวมตลาดหุ้นในประเทศมาหารด้วยจีดีพี โดย ณ ตอนนี้ ผลการคำนวนอยู่ในระดับที่สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงฟองสบู่ที่กำลังจะแตก และตลาดจะให้ผลตอบแทนติดลบ
นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อผ่านการเจรจาภาษีตอบโต้ไปได้ ความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ก็จะยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ โดยจะเจาะจงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น และก็ได้เห็นการกำหนดภาษีนำเข้าทองแดง 50% ของทรัมป์ไปแล้ว รวมถึงสัญญาณการเรียกเก็บภาษีสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ ยา เภสัชภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ ทำให้ไทยต้องระมัดระวังต่อไป
ผลกระทบจากมาตรการภาษีสามารถแบ่งออกมาเป็น 4 คลื่นหลัก ๆ เริ่มต้นที่ ตลาดทุนที่จะตื่นตระหนก และปรับตัวลง ตามที่เคยเกิดขึ้นหลังทรัมป์ประกาศอัตราภาษีครั้งแรกเดือนเม.ย. ตามมาด้วย ผลกระทบต่อภาคการผลิตจริง (Real Sector) ซึ่งปีนี้อาจจะยังไม่เห็นผลมาก จากการเร่งนำเข้า raw material ให้เพียงพอจนถึงปลายปี
คลื่นที่ 3 ในระยะถัดไป จะเป็นการโยกย้ายฐานการผลิต ซึ่งไทยมีความเสี่ยงในด้านนี้พอสมควร ถ้าหากไม่ได้รับภาษีอัตราที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ และสุดท้ายคือผลกระทบจากการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Dedollarization) ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณแล้วจากเพิ่มขึ้นของราคาทองคำและสินทรัพย์ตัวเลือกต่าง ๆ เช่น บิทคอยท์ รวมถึงการลดการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ และธนาคารกลางต่าง ๆ ก็เลือกถือดอลลาร์น้อยลง
ดังนั้น แนะนำว่ารัฐบาลไทยต้องพิจารณาเงื่อนไขการเจรจาให้ดี เพราะอาจจะต้องยอมเสียเปรียบในบางภาคอุตสาหกรรม เช่นการเกษตร ซึ่งจะต้องใช้ประมาณมาชดเชย หรือสุดท้ายแล้ว ไทยอาจจะถูกบังคับเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยอยากให้รัฐบาลออกมาตรการระยะสั้น เพื่อการรักษาโมเมนตั้มของเศรษฐกิจตั้งแต่เนิ่น ๆ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งรักษาความสงบการเมือง และเตรียมตัวรับวิฤกติที่อาจจะเกิดขึ้น
แต่ในระยะยาว ไม่ว่ามาตรการภาษีทรัมป์จะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลไทยก็ควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ รวมถึง Digital Transformation ด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ และมาตรการสีเขียวรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก เพราะในท้ายที่สุด มาตรการภาษีก็คงสามารถหาทางออกได้ แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจคือภาคอุตสาหกรรมที่กำลังล้าหลัง อย่างกลุ่มปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนต่อดัชนี SET มาก
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. ทิสโก้ กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเสียโอกาสปรับตัวตามตลาดหุ้นโลกจากเหตุผลดังกล่าว โดยไทยเป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศที่หดตัวลง แต่ก็เห็นว่าผู้จัดการกองทุนต่างประเทศยังให้ความสนใจกับตลาดหุ้นไทยอยู่ จากแนวโน้มของตลาด Emerging Market ที่น่าจะไปต่อได้ดี
เรื่องผลการดำเนินการของ บจ. ที่เป็นปัจจัยกดดัน SET มาตลอด ก็เริ่มเห็นภาพรวมที่ดีขึ้นแล้วในไตรมาส 1/68 จึงอยากแนะนำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรักษาโมเมนตัมตรงนี้ไว้ ไม่อยากให้นักลงทุนเทขายกันตลอด โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นให้เงินปันผลสูงในดัชนี SETHD ซึ่งมีการเติบโตที่ดีกว่าดัชนี SET หลัก
ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ แนะนำว่าจะยังคงเล่นได้ต่อ แต่ต้องระมัดระวัง โดยหุ้นใหญ่หรือหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 อาจจะต้องเลือกถือบางตัว ไม่น่าจะโตขึ้นเป็นแนวกระดานทุกตัวเหมือนที่เคยเห็นมาก่อน ในขณะที่หุ้น Mid Cap และ Small Cap อาจน่าลงทุนมากกว่าในช่วงนี้ แต่ก็ต้องประเมินความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)