ประธาน ส.ธนาคารไทยชี้ความท้าทายใหญ่เศรษฐกิจ แนะ 3 ทางออก “กระตุก-ประคอง-ปฏิรูป”

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย [KTB] กล่าวในงานสัมมนา “DECODE 2025 ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายนอก อาทิ มาตรการภาษีการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอน และปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่มากถึง 48% ของ GDP ส่งผลให้มีแรงงานนอกระบบสูงถึง 51% แต่มีผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคน ขณะที่ผู้เรียกร้องสวัสดิการรัฐมีมากถึง 68 ล้านคน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่ยั่งยืน

จากการสำรวจหนี้ครัวเรือนของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและธนาคารกรุงไทย (เดือน พ.ย.67) พบว่าหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 686,792 บาท โดย 13.4% เป็นหนี้นอกระบบคิดเป็น 91,900 บาท เมื่อรวมหนี้ในระบบและนอกระบบ หนี้ครัวเรือนสูงถึง 117% ของ GDP หนี้นอกระบบยังมีความทับซ้อน โดยคนคนหนึ่งสามารถเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ในคราวเดียวกัน สะท้อนเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่กลไกในระบบยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มดังกล่าวได้อย่างแท้จริง

ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบยังนำมาซึ่งรายได้ต่ำ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง การกำกับดูแลที่ด้อยกว่า ผลิตภาพต่ำ ความยืดหยุ่นทางจิตใจต่ำ และการพัฒนาที่ล่าช้า นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้งเป็นเรื่องซ้ำซาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเยียวยาจำนวนมากอย่างไม่ยั่งยืน และยังเชื่อมโยงกับปัญหาคอร์รัปชัน รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็นคริปโทและทองคำ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อภาคการผลิตและบริการที่จับต้องได้

นายผยง ระบุว่า ในสถานการณ์ดังกล่าว เป็นโอกาสในการปฏิรูปไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า โดยเสนอ 3 ทางออกสำคัญเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ได้แก่

การกระตุก: โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาค SME

การประคอง: เพื่อให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้แม้ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ

การปฏิรูป: เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

“มาตรการกระตุก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ก็พยายามผลักดันโครงการ คุณสู้ เราช่วย หวังว่าจำนวนลูกหนี้เหล่านี้จะสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการได้เต็มที่ แต่สิ่งที่ท้าทายคือกลุ่มนอกระบบ ดังนั้นการมีข้อมูลที่เชื่อมโยงและเป็นข้อเท็จจริง ที่เราสามารถมาขบคิดออกนโยบายสาธารณะได้อย่างเชื่อมโยงถูกจุด ไม่ระยะสั้น ประคับประคอง เยียวยา เร่งสร้างในสิ่งที่ต้องปฏิรูปด้วยเป็นสิ่งสำคัญ”

ด้านการยกระดับรายได้และเพิ่มโอกาสในการเติบโต ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สิ่งแรกคือต้องเร่งเสริมสร้างทักษะ ดึงคน

เข้าสู่ระบบการศึกษาที่นำไปสู่การจ้างงาน ขณะเดียวกันนโยบายการสนับสนุนการลงทุนต้องปกป้องผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งเร่งให้ตัวช่วยกับผู้ประกอบการในประเทศ ใช้ทรัพยากรในประเทศ จ้างแรงงานในประเทศ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องเร่งดำเนินการ

ขณะเดียวกันการที่ผลักดันการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชน หรือการตั้งกองทุน เพื่อสร้างให้เกิดนวัตกรรมในประเทศอย่างเร่งด่วน ในขณะเดียวกันการปรับเพดานหนี้สาธารณะจากปัจจุบันอยู่ที่ 70% และนำทรัพยากรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในวิกฤตมีโอกาส ตอนนี้เป็นช่วงที่ไทยเจอหลายปัญหาถาโถม แปลว่าในช่วงนี้มันเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสในการที่จะเร่งสร้าง trust and confidence ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน รัฐบาลอาจต้องทบทวนงบประมาณปี 69 อีกครั้งหรือไม่ และเพดานหนี้สาธารณะควรจะต้องถูกปรับยกขึ้น และการมีกลไกต่าง ๆ ช่วยเหลืออย่างมาตรการ ม.28 (พ.ร.บ.วินัยการเงิน) ก็เป็นเรื่องที่ดี ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้คือเราต้องมองวิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 68)