
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น [WHA] กล่าวใน สัมมนา “DECODE 2025 ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย” ว่า ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group ยังคงแข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตเกินเป้าหมาย แม้จะเผชิญกับมาตรการภาษีจากสหรัฐฯ โดยนักลงทุนยังคงเดินหน้าตามแผนและไม่มีการชะลอการลงทุนแต่อย่างใด
สำหรับมาตรการภาษีสหรัฐฯ ปัจจุบันมีประเทศที่ได้ข้อสรุปการเจรจาเพียง 2 ประเทศ คือ อังกฤษ และเวียดนาม ขณะที่ประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม กรณีของเวียดนามถูกเรียกเก็บในอัตราภาษี 20% และสินค้าที่มีการนำเข้าสินค้าเพื่อส่งออกต่อ (Transshipment) 40% ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการผลิตสินค้าในเวียดนามส่วนมากเป็น Transshipment และข้อสรุปการขนส่งสินค้าแบบ Transshipment ก็ยังไม่จบ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการผลิตสินค้าในเวียดนามเติบโตโดดเด่น แต่ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ
“เพราะฉะนั้น เวียดนามยังไม่รู้เลย ว่าโดนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้า 20% หรือเจอ 40% หากเขาคิดว่าเป็น 40% แปลว่าเขาเจอหนักกว่าไทย จะเห็นได้ว่าเขายังไม่ประกาศแสดงความดีใจขึ้นมา รัฐบาลเขายังสับสนกับเรื่องนี้” นางสาวจรีพร กล่าว
ขณะที่ไทย ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บในอัตราภาษี 36% ยังต้องติดตามก่อนว่าประเทศอื่น ๆ ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไร ซึ่ง WHA ได้สำรวจกับลูกค้านิคมอุตสาหกรรม พบว่าหากประเด็นมาตรการภาษีส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ลูกค้าบางส่วนอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไป 2 ประเทศ คือบราซิลและเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม บราซิลถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าไทย และเม็กซิโกได้อัตรา 30% ไม่ต่างจากไทยมาก และผู้ประกอบการจีนก็ไม่ค่อยนิยมเม็กซิโก
ถัดมาต้องติดตามว่าจีนจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไร ซึ่งหากดูมาตรการภาษีการค้าสหรัฐฯ รอบนี้ จุดประสงค์เพื่อสกัดกั้นจีน ดังนั้นก็มีโอกาสน้อยที่จีนจะได้อัตราภาษีที่ต่ำ ขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของจีน ก็มองว่าผู้ประกอบการจีนจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปอินเดีย
แม้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 19% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงสงครามการค้าปี 2561 แต่ส่วนหนึ่งมาจากการทำ Transshipment ซึ่งไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อประเทศมากนัก อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ กว่า 60% มาจากการลงทุนของบริษัทสหรัฐในไทย ซึ่งการย้ายฐานผลิตของบริษัทเหล่านี้ทำได้ยากเนื่องจากมีการลงทุนขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนเดิม
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของชิ้นส่วนที่ส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะรถยนต์พวงมาลัยขวา ส่วนกลุ่ม EV ก็มีการดึงซัพพลายเชนใหม่ๆ เข้ามายังไทยแล้ว ซึ่งเน้นตลาดอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแม้จะเผชิญกับ Tariff แต่ภาคการผลิตหลักของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการปรับตัว
นางสาวจรีพร กล่าวว่า WHA Group ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการลงทุนใน Data Center จากสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดการส่งออกชิปขั้นสูง และกลุ่มลูกค้าจีนก็ไม่ได้ใช้ชิปจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว
“ประเทศไทยมีจุดแข็งด้าน Supply Chain และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แต่ยังต้องพัฒนาต่อในด้านความมั่นคงทางพลังงาน และ Ecosystem ด้านยานยนต์ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการ EV ท่ามกลางความผันผวนนี้ นางสาวจรีพร ย้ำว่าทุกภาคส่วนต้องวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านและร่วมมือกันปรับตัวเพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 68)