
แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความไม่สมดุลที่เสี่ยงต่อเสถียรภาพในเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากสหรัฐฯ และจีน โดยเขาเน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก ควรดำเนินการในระดับพหุภาคี ไม่ใช่เพียงในระดับประเทศ เพราะจะทำให้การกำหนดนโยบายมีประสิทธิภาพมากกว่า
เบลีย์กล่าวว่า IMF ควรใช้บทบาทในการจัดประชุมหารือร่วมกับประเทศสมาชิก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และควรร่วมมือกับองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อประเมินภาพรวมของระบบการค้าโลกอย่างรอบด้าน ทั้งนี้เขาเห็นว่า ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจโลกคือการสร้างการเติบโตเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนทั่วโลก
เบลีย์มองว่า ปัญหาหลักของเศรษฐกิจโลกเกิดจากการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเกินดุลอย่างมหาศาลและอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอของจีน เขาเรียกร้องให้จีนกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อแก้ไขความไม่สมดุลส่วนเกิน ก่อนที่มาตรการกีดกันทางการค้าจะทวีความรุนแรง และก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความผันผวนด้านเศรษฐกิจมหภาคและความไม่มั่นคงทางการเงิน
เบลีย์ยังกล่าวว่า ประเทศที่มีการขาดดุลมากมักจะเผชิญแรงกดดันจากตลาดการเงินมากที่สุด โดยปีนี้ตลาดมีความปั่นป่วนอย่างเห็นได้ชัด ทำให้จำเป็นต้องติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินอย่างใกล้ชิด
ก่อนหน้านี้ เบลีย์เคยเน้นถึงความสำคัญของ IMF และองค์กรพหุภาคีอื่น ๆ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงขึ้น หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าระดับสูงและขู่ใช้มาตรการเพิ่มเติม โดย IMF เพิ่งวิจารณ์แผนลดภาษีครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ขณะที่สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการกล่าวหาว่า IMF ดำเนินการเกินกรอบภารกิจหลักด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเฝ้าระวังทางการเงิน
ในอีกด้านหนึ่ง เบลีย์กล่าวว่า เขาจะใช้บทบาทในฐานะประธานคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กำกับดูแลการเงินระดับโลก เพื่อร่วมมือกับ IMF พัฒนาการทดสอบความยืดหยุ่นของระบบการเงินโลก ครอบคลุมทั้งธนาคารและบริษัทการเงิน เช่น เฮดจ์ฟันด์
สำหรับด้านเทคโนโลยีการเงิน เบลีย์สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการชำระเงินดิจิทัลสำหรับธุรกรรมรายย่อยและบัญชีธนาคาร แต่ยังไม่มั่นใจถึงความจำเป็นของการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเพื่อรายย่อย (CBDC) พร้อมระบุว่า สเตเบิลคอยน์ (Stablecoins) ไม่สามารถทดแทนเงินฝากธนาคารพาณิชย์ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 68)