ความเชื่อมั่นผู้ผลิตญี่ปุ่นก.ค.ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังผวากำแพงภาษีสหรัฐฯ

ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ “ทังกัน” (Tankan) ของรอยเตอร์ ชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตในญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนก.ค. และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แม้ว่ายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ก็ตาม

ผลสำรวจรายเดือนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคการผลิตขยับขึ้นมาอยู่ที่ +7 ในเดือนก.ค. จากเดิมที่ +6 ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ดัชนีของภาคบริการยังคงทรงตัวอยู่ที่ +30 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจบริษัทรายใหญ่นอกภาคการเงินจำนวน 497 แห่ง โดยในจำนวนนี้มี 241 แห่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 2-11 ก.ค. ระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตคาดการณ์ว่าความเชื่อมั่นจะปรับตัวขึ้นอีกสู่ระดับ +8 ภายในเดือนต.ค. แต่ในทางกลับกัน กลุ่มธุรกิจภาคบริการกลับมองว่าแนวโน้มจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ +27

เมื่อเจาะลึกลงไปในภาคการผลิต พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวดีขึ้นจาก -16 ในเดือนมิ.ย. มาอยู่ที่ -4 ในเดือนก.ค. ส่วนกลุ่มผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นจาก +12 เป็น +18 โดยได้อานิสงส์จากความต้องการชิปที่เริ่มฟื้นตัว

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรขนส่ง ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์อันเป็นหัวใจสำคัญของญี่ปุ่น กลับมีทิศทางสวนทาง โดยดัชนีความเชื่อมั่นลดลงจาก +20 ในเดือนมิ.ย. เหลือเพียง +9 ในเดือนก.ค. โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำแพงภาษีรถยนต์ 25% ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกและต้นทุน

แม้ว่าภาพรวมความเชื่อมั่นจะยังอยู่ในแดนบวก แต่ผู้ผลิตญี่ปุ่นยังคงเฝ้าระวังความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด โดยผู้ผลิตเครื่องจักรรายหนึ่งระบุว่า ลูกค้าเริ่มระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากผลของภาษีสหรัฐฯ และสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง

ด้านภาคบริการมีทิศทางผสมผสานกันไป โดยความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ค้าส่งปรับตัวดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ การค้าปลีก ไอที และการขนส่งกลับลดลงจากเดือนมิ.ย. โดยผู้จัดการบริษัทค้าปลีกรายหนึ่งชี้ว่า บรรยากาศยังคงก้ำกึ่ง โดยซูเปอร์มาร์เก็ตได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่สูงขึ้นหลังปรับขึ้นราคาได้สำเร็จ แต่ห้างสรรพสินค้ากลับมียอดขายลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวขาเข้า

ผลสำรวจนี้จัดทำขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก กำลังเผชิญมรสุมจากความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก โดยเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้หดตัวไปแล้วในไตรมาสแรกของปีจากการบริโภคที่ไม่คึกคัก และยอดส่งออกในเดือนพ.ค. ก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 68)