ศาลสูงสุดเกาหลีใต้ยกฟ้อง “เจย์ วาย ลี” บิ๊กบอสซัมซุง พ้นมลทินคดีควบรวมกิจการ

ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ได้มีคำตัดสินในวันนี้ (17 ก.ค.) ให้เจย์ วาย ลี (อี แจยง) ประธานบริหารของซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) พ้นผิดทุกข้อหา ทั้งการฉ้อโกงทางบัญชีและการปั่นหุ้น ซึ่งเป็นการปลดล็อกความเสี่ยงทางกฎหมายที่ยืดเยื้อมานานสำหรับผู้นำของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

คำตัดสินของศาลสูงสุดเป็นการยืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2558 ระหว่างบริษัทในเครือซัมซุง 2 แห่งคือ ซัมซุง ซีแอนด์ที (Samsung C&T) และเชอิล อินดัสทรีส์ (Cheil Industries) โดยก่อนหน้านี้อัยการกล่าวหาว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปูทางให้เจย์ วาย ลี รวบอำนาจควบคุมอาณาจักรซัมซุง

ทั้งนี้ คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซัมซุงเพิ่งคาดการณ์ว่าผลกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/2568 จะร่วงลงถึง 56% ซึ่งเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันเนื่องมาจากยอดขายชิป AI ที่ซบเซา ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการฟื้นฟูธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังย่ำแย่

หลังข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป หุ้นของซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ปิดตลาดพุ่งขึ้น 3.1% เหนือดัชนี KOSPI ซึ่งเป็นดัชนีหลักของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่ปิดบวกเพียง 0.19% นักวิเคราะห์ระบุว่า การปรับตัวขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่ความไม่แน่นอนทางกฎหมายได้หมดไป ซึ่งอาจส่งผลดีต่อซัมซุงในระยะยาว เพราะหากเจ้าของเข้ามามีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น ก็จะช่วยให้ฝ่ายบริหารมุ่งความสนใจไปที่โครงการริเริ่มระยะยาวได้มากขึ้น แทนการมุ่งเน้นผลประกอบการระยะสั้น

นอกจากนี้ หุ้นซัมซังยังได้อานิสงส์หลังจากที่โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของเอสเค ไฮนิกซ์ (SK Hynix) ซึ่งเป็นคู่แข่งในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนย้ายมาลงทุนในหุ้นซัมซุง

ตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา เจย์ วาย ลี ต้องเผชิญกับความท้าทายทางกฎหมาย รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการซึ่งเป็นการปูทางให้เขาสืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดา อี คุนฮี ซึ่งป่วยด้วยอาการหัวใจวายในปี 2557 นอกจากนี้ เจย์ วาย ลี วัย 57 ปี ยังเคยรับโทษจำคุก 18 เดือนในคดีติดสินบนอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ก่อนจะได้รับการอภัยโทษในปี 2565 เพื่อให้มาช่วยประเทศชาติฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

ด้านกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ทางธุรกิจต่างออกมาขานรับคำตัดสินดังกล่าว โดยสมาพันธ์องค์กรเกาหลี (Korea Enterprises Federation) ระบุว่า คำตัดสินนี้ช่วยขจัดภาระทางกฎหมายที่สำคัญของซัมซุง ในช่วงเวลาที่การแข่งขันระดับโลกในอุตสาหกรรมไฮเทคกำลังทวีความรุนแรง และหวังว่าบริษัทจะเร่งการลงทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่บริหารโดยครอบครัว หรือที่เรียกว่า “แชโบล” (chaebol) ในเกาหลีใต้ ได้รับการยกย่องมาอย่างยาวนานว่ามีส่วนช่วยพลิกโฉมเกาหลีใต้ให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่ไม่โปร่งใสและการกีดกันธุรกิจขนาดเล็ก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 68)