
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ของปี 2568 ลดลงมาอยู่ที่ 16.35 ล้านล้านบาท หดตัว -0.1%YOY นับเป็นการหดตัวครั้งแรก ตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในปี 2555 หลังจากชะลอตัวลงต่อเนื่องในหลายไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาส 1 ปี 2568 สินเชื่อเพื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ หดตัวรุนแรงถึง -10%YOY ตามสภาวะตลาดยานยนต์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนประเภทอื่น ๆ ชะลอลงทั้งหมด
หากพิจารณาการหดตัวของสินเชื่อครัวเรือน ตามประเภทของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อพบว่า การหดตัวเกิดขึ้นในสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินเอกชนเป็นหลัก ตามความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ภาคครัวเรือนทั้งหมด โดยยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ หดตัวถึง -3.0%YOY หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล หดตัว -1.2%YOY หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 สำหรับสถาบันการเงินของรัฐ และสหกรณ์ เป็นแหล่งปล่อยสินเชื่อหลักที่ยังคงเติบโต ส่งผลช่วยให้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมไม่หดตัวมากนัก
“ในระยะข้างหน้า สถาบันการเงินของรัฐจะมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยพยุงให้หนี้ครัวเรือนไทยไม่หดตัวลงมาก จากมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ของภาครัฐ ขณะที่ต้องติดตามการเติบโตของสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะคุณภาพของสินเชื่อ ซึ่งจะมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยต่อไป” SCB EIC ระบุ
- หนี้ครัวเรือนไทย ลดลงต่อเนื่องตามวัฎจักร Deleveraging
SCB EIC คาดการณ์ว่า ครัวเรือนไทยจะยังอยู่ในช่วง Deleveraging หรือการลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ภายหลังภาระหนี้ต่อ GDP ที่สูงขึ้นมากจากผลกระทบ COVID-19 อย่างไรก็ดี กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP (Household Debt Deleveraging) ในรอบวัฏจักรนี้ อาจไม่ได้สะท้อนสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยเช่นในอดีต เพราะ Deleveraing ในรอบนี้กำลังแสดง “อาการความเปราะบาง” ของเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ที่ยังมีแผลเป็นเศรษฐกิจเหลืออยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข
หากพิจารณาการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เห็นในเชิงองค์ประกอบ พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงจาก “ยอดหนี้คงค้างที่ขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ” โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ขยายตัวต่ำมานานกว่า 5 ไตรมาสแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตอยู่ แม้จะโตต่ำ และฟื้นตัวได้ช้า
- สถาบันการเงินยังระมัดระวังการให้สินเชื่อ
SCB EIC ประเมินว่า ในระยะต่อไป สถาบันการเงินจะยังคงมีแนวโน้มระมัดระวังการให้สินเชื่อ โดยคุณภาพสินเชื่อที่ปรับด้อยลงต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำ สัดส่วนสินเชื่อ Stage 3 (NPL) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 3.41% ในไตรมาสแรกของปี 2568
หากพิจารณาในรายละเอียด พบว่าสินเชื่อที่มีความเสี่ยงระดับ Stage 3 (NPL) ปรับเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งมีสัดส่วน NPL สูงกว่าอยู่ที่ 4.11% และ 4.17% ตามลำดับ และหากคิดรวมกับสัดส่วนสินเชื่อที่มีความเสี่ยงระดับ Stage 2 แล้วสัดส่วนดังกล่าวจะสูงถึง 10.26% และ 8.45% ตามลำดับ
โดยในแง่คุณภาพสินเชื่อครัวเรือน พบว่า สถาบันการเงินมีแนวโน้มจะยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเอกชน ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความเปราะบางของครัวเรือน นอกจากภาคครัวเรือนไทยจะมีแผลเป็นจากวิกฤติ COVID-19 อยู่แล้ว ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทย ทั้งปัจจัยเสี่ยงภายนอก จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยเสี่ยงภายใน ทั้งจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเปราะบางของภาคธุรกิจที่ต้องแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้า
- การลดหนี้ครัวเรือนของไทย ยังช้ากว่าประเทศอื่น
SCB EIC มองว่า กระบวนการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ของไทยเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ค่อนข้างล่าช้า (ประเมินจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงสุดในช่วง COVID-19 เทียบกับข้อมูลล่าสุด) อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อของไทย พบว่าค่อนข้างต่ำกว่าหลายประเทศ โดยในประเทศเศรษฐกิจหลัก การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินเฟ้อเร่งตัวในช่วงต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งช่วยลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้เร็วขึ้น จากมูลค่าเศรษฐกิจที่สูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออก แม้เงินเฟ้อเร่งตัวน้อยกว่า แต่อัตราการเติบโตของ GDP ฟื้นตัวได้ดีหลังวิกฤติ COVID-19
โดยเปรียบเทียบแล้ว แม้กระบวนการลดหนี้ (Deleveraging) ของไทยอาจสอดคล้องกับทิศทางของประเทศอื่น ๆ แต่ความแตกต่างคือ กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย เกิดขึ้นผ่านยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ไม่เติบโตเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยหากอัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ครัวเรือนไทยเผชิญกับภาวะ “Debt Deflation” ซึ่งจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหนี้ครัวเรือนไทย ไม่ปรับลดลงไปตามระดับราคาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนจะยังคงมีภาระหนี้ที่สูง นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยสูงสุด ณ วิกฤติ COVID-19 อยู่ที่ระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับอดีตของไทยเองและประเทศอื่น ๆ
- ชุดนโยบายแก้หนี้ อาจช่วยลดหนี้ครัวเรือนลงได้บ้าง
ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลายมาตรการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้ โดยเฉพาะมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” ล่าสุด ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า โครงการได้ขยายขอบเขตเงื่อนไขและระยะเวลาเข้าร่วม ตลอดจนขยายเกณฑ์ให้ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มอื่นมากขึ้น โครงการใหม่นี้ อาจช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะสั้น ผ่านแรงจูงใจในการลดภาระการชำระหนี้ต่อเดือน แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะต่อไป ยังขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ที่มีการปรับเพิ่มยอดชำระหนี้รายเดือนแบบเป็นขั้นบันไดในแต่ละปีที่ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ
ดังนั้น กระบวนการลดหนี้ที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงต่อภาคครัวเรือนโดยรวม จะต้องเป็นกระบวนการลดหนี้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งอาจพิจารณาผ่าน 2 แนวทาง คือ กระบวนการแก้หนี้เดิม จะต้องออกแบบให้ครอบคลุม และตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้ต่างกัน และกลไกนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จะต้องช่วยประคองเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวได้มากพอที่จะนำไปชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้หลุดจากปัญหาหนี้เรื้อรังได้อย่างยั่งยืน
โดยในระยะต่อไป แนวทางในการป้องกันการก่อหนี้ที่ไม่ยั่งยืน อาจทำได้ผ่านนโยบาย Macroprudential ที่เหมาะสม เช่น การกำหนดเกณฑ์สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในภาวะที่ดอกเบี้ยลดต่ำลงมาเป็นระยะเวลายาวนาน (Low for Long) กระบวนการลดหนี้ครัวเรือนของไทย จะยังเป็นปัจจัยสำคัญกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
- คาดสิ้นปี 68 หนี้ครัวเรือนแตะระดับ 85.5-86.5% ต่อ GDP
ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่ากระบวนการลดหนี้ครัวเรือนของไทยจะยังดำเนินต่อไป จากยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตต่ำลงต่อเนื่อง จากปัจจัยสงครามการค้า, แผลเป็นเศรษฐกิจในภาคครัวเรือนและ SMEs ที่มีอยู่เดิม และข้อจำกัดด้านนโยบายการคลัง โดยมีโอกาสเข้าสู่ Technical recession โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ สิ้นปี 2568 จะลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ช่วง 85.5-86.5%
อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำ ก็เพียงพอที่จะทำให้สัดส่วนดังกล่าวทยอยปรับลดลง โดยกระบวนการลดหนี้ (Deleveraging) ในลักษณะนี้ อาจไม่ได้ช่วยให้ครัวเรือนปลดล็อกจากปัญหาหนี้สินได้ดีมากนัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนจะฟื้นตัวช้า นอกจากนั้น การเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือน ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากขึ้นตามความระมัดระวังในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และมีแนวโน้มกดดันการบริโภคภาคเอกชนไทยในระยะต่อไป ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชน เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลัง COVID-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 68)