G20 เตือนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงจากสงครามภาษีสหรัฐฯ หนุนความร่วมมือพหุภาคี

รัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 ชาติ (G20) แถลงเมื่อวันศุกร์ (18 ก.ค.) ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับ “ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายที่ซับซ้อน” ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่ยังไม่คลี่คลาย

การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง G20 ซึ่งจัดขึ้น 2 วันใกล้เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้ ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ซึ่งถือเป็นเอกสารลักษณะนี้ฉบับแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 โดย สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม

ในแถลงการณ์ระบุว่า G20 “ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่มีอยู่และที่กำลังเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก” ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลต่อผลกระทบด้านลบจากมาตรการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

บรรดารัฐมนตรีคลังย้ำถึงความสำคัญขององค์การการค้าโลก (WTO) ในการผลักดันประเด็นด้านการค้า ขณะที่ผู้เข้าร่วมหลายคนแสดงความไม่พอใจต่อแนวทางการดำเนินการแบบฝ่ายเดียวของทรัมป์ โดยเตือนว่าอาจกระตุ้นให้เกิดกระแสกีดกันทางการค้ามากขึ้น

แถลงการณ์ยังยืนยันว่า “กฎเกณฑ์ที่ได้รับการตกลงร่วมกันภายใต้ WTO เป็นส่วนสำคัญของระบบการค้าโลก” การประชุม G20 ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่กำลังใกล้เส้นตายวันที่ 1 ส.ค. สำหรับการบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีการค้าที่เข้มงวดขึ้นของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า

นับตั้งแต่ต้นเดือนนี้ ทรัมป์ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งเมื่อเดือนม.ค. ได้แจ้งประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับอัตราภาษี “ตอบโต้” แบบเฉพาะประเทศ ส่งผลให้หลายชาติเร่งเดินหน้าการเจรจาการค้าทวิภาคี

คัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุม G20 ก่อนถึงการเลือกตั้งสภาสูงในวันอาทิตย์นี้ ขณะที่ คาซุโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่สามารถเดินทางไปแอฟริกาใต้ได้เนื่องจากติดภารกิจอื่น

คาโตะซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เขาได้แสดงความกังวลต่อรัฐมนตรี G20 คนอื่น ๆ ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี โดยระบุว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดจากมาตรการภาษีชุดใหม่ของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน

ส่วนเบสเซนต์เลือกเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อร่วมงาน “วันชาติสหรัฐฯ” ในงานเวิลด์เอ็กซ์โปที่โอซากา แทนการเข้าร่วมประชุม G20 ครั้งนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 68)