
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย [KBANK] เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/68 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/68 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 12,488 ล้านบาท ลดลง 1,303 ล้านบาท หรือ 9.45% หลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงตามภาวะตลาด รวมทั้งการดูแลช่วยเหลือด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระให้ลูกค้ามีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นและช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ
อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) ลดลงอยู่ที่ระดับ 3.31% แม้ว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 13,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 266 ล้านบาท หรือ 1.95% หลัก ๆ จากผลการดำเนินงานการบริการประกันภัย และรายได้จากการลงทุน สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ 20,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 751 ล้านบาท หรือ 3.75% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการขยายช่องทางการให้บริการลูกค้าและค่าใช้จ่ายทางการตลาด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้องค์รวมของกรอบงบประมาณที่วางไว้ ส่งผลให้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลง 1.68% นอกจากนี้ ได้พิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 10,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 232 ล้านบาท หรือ 2.36% ตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม รองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ในอนาคต
ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 68 เปรียบเทียบกับงวด 6 เดือนปี 67 ที่ปรับปรุงใหม่ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ 56,847 ล้านบาท ลดลง 2,470 ล้านบาท หรือ 4.16% เป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ หลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 70,080 ล้านบาท ลดลง 5,234 ล้านบาท หรือ 6.95% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้า ส่งผลให้ NIM ลดลงอยู่ที่ 3.36% แม้ว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 27,622 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,409 ล้านบาท หรือ 9.55% หลัก ๆ จากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รายได้จากการลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ 40,855 ล้านบาท ลดลง 355 ล้านบาท หรือ 0.86% จากการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.82%
นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงยึดหลักความระมัดระวังอย่างรอบคอบตามที่ได้ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ จึงพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) จำนวน 19,868 ล้านบาท เพื่อให้สำรองฯ มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและยังคงเผชิญกับความท้าทาย ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารสำหรับงวด 6 เดือนปี 68 มีจำนวน 26,280 ล้านบาท ลดลง 260 ล้านบาท หรือ 0.98%
ณ วันที่ 30 มิ.ย.68 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 4,374,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 33,854 ล้านบาท หรือ 0.78% เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.67 ที่ปรับปรุงใหม่ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนสุทธิ ซึ่งเป็นการลงทุนตามการคาดการณ์ภาวะตลาดและทิศทางอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยธนาคารยังคงมุ่งเน้นการขยายสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์ และการเพิ่มผลตอบแทนที่ปรับตามความเสี่ยงให้เหมาะสม
ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.18% ซึ่งยังคงต้องดำเนินการติดตามคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังใกล้ชิดในภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 162.77% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 20.66%
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/68 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในฝั่งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งในส่วนของรายจ่ายประจำและรายจ่ายเพื่อการลงทุนหดตัวลง เพราะเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 เริ่มมีผล
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 68 มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำกว่าครึ่งแรกของปีค่อนข้างมาก หรือมีความเสี่ยงที่จะไม่เติบโต เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลึกหลังจากขยายตัวสูงไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่จะเก็บจากสินค้าไทยอาจสูงกว่าคู่แข่งสำคัญหลายประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศการลงทุน ในขณะที่แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลงแรง แต่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำได้เพียงในระดับจำกัด นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะมีผลกดดันต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยในปี 69 ด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 68)