มูดี้สจับตาญี่ปุ่นหั่นภาษีการบริโภค ชี้อันดับเครดิตขึ้นอยู่กับขอบเขตของผลกระทบ

มูดี้ส์ เรทติ้งส์ (Moody’s Ratings) เปิดเผยในวันนี้ (22 ก.ค.) ว่า ผลกระทบจากการปรับลดภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นที่จะมีต่ออันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นนั้น จะขึ้นอยู่กับขอบเขต ขนาด และความยาวนานของการใช้มาตรการดังกล่าว

ด้านนักวิเคราะห์เตือนว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นอาจทำให้เกิดการเทขายพันธบัตร เงินเยน และหุ้นญี่ปุ่น อีกทั้งจะทำให้ธนาคารภายในประเทศมีต้นทุนการระดมเงินทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ได้สูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่รัฐบาลอาจต้องรับข้อเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านในการเพิ่มการใช้จ่าย และอาจมีการปรับลดภาษีการบริโภคซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 10%

คริสเตียน เดอ กัซแมน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการของมูดี้ส์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลของญี่ปุ่นจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากพรรคฝ่ายค้านเพื่อผ่านกฎหมายในรัฐสภา โอกาสที่การใช้จ่ายด้านการคลังจะขยายตัวจึงเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงมีสถานะที่แข็งแกร่งมากพอที่จะยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของอัตราภาษีการบริโภค

มูดี้ส์ให้อันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นที่ระดับ A1 ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นอันดับห้า และให้แนวโน้ม “มีเสถียรภาพ” มาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2557 อย่างไรก็ มูดี้ส์ได้ออกรายงานเตือนเมื่อเดือนพ.ค.ว่า อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น หากมีสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ภาวะถดถอยด้านการคลัง ในขณะที่ปัจจุบันญี่ปุ่นก็มีภาระหนี้สินสูงอยู่แล้ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา อันเนื่องมาจากความกังวลว่าความพ่ายแพ้ของพรรคร่วมรัฐบาลของอิชิบะซึ่งดำเนินนโยบายการคลังแบบรัดกุมมาโดยตลอดนั้น อาจเพิ่มโอกาสที่จะทำให้รัฐบาลมีการใช้จ่ายจำนวนมากและอาจมีการปรับลดภาษีการบริโภค

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งวุฒิสภา อิชิบะได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ปรับลดภาษีการบริโภค ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมให้กับประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งช่วงหลังการเลือกตั้ง อิชิบะได้แสดงท่าทีระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้ว่า การปรับลดภาษีการบริโภคอาจจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับภาคครัวเรือนเป็นการชั่วคราว แต่ก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะชำระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่พุ่งสูงขึ้นได้อย่างไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 68)