การลงทุนด้านพลังงานฟิวชันทั่วโลกโตสูงสุดใน 3 ปี รองรับดีมานด์ไฟฟ้าพุ่ง

การลงทุนในพลังงานฟิวชัน (fusion energy) ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.64 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว หรือภายในปีเดียว ซึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2565 ตามรายงานการสำรวจประจำปีของสมาคมอุตสาหกรรมฟิวชัน (Fusion Industry Association – FIA) ซึ่งมีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ เห็นตรงกันว่า ยังจำเป็นต้องใช้เงินทุนอีกมาก หากต้องการผลักดันอุตสาหกรรมนี้เข้าสู่เชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

จากการสำรวจบริษัทฟิวชัน 53 แห่ง พบว่า เงินลงทุนรวมตั้งแต่ปี 2564 อยู่ที่เกือบ 9.77 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยปีนี้เพียงปีเดียว การลงทุนเพิ่มขึ้น 178% จากระดับกว่า 900 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว รายงานยังระบุด้วยว่า การลงทุนที่เติบโตขึ้นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ

การระดมทุนที่เร่งตัวขึ้นนี้เกิดขึ้นแม้ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังตึงตัว ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน โดยได้รับแรงหนุนจากการรวมห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงจาก AI และศูนย์ข้อมูล โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น เชฟรอน (Chevron) เชลล์ (Shell) ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ (Siemens Energy) และนูคอร์ (Nucor) เข้าลงทุน และเมื่อเดือนที่แล้ว กูเกิล (Google) เปิดเผยว่าได้ทำข้อตกลงซื้อไฟฟ้าจากโรงงานของคอมมอนเวลท์ ฟิวชัน ซิสเต็มส์ (Commonwealth Fusion Systems) ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ภายในต้นทศวรรษ 2030 (พ.ศ. 2573-2575)

อย่างไรก็ตาม แบบสำรวจนี้ไม่ได้รวมเงินทุนจากโครงการฟิวชันของภาครัฐ ซึ่งจีนยังคงถูกมองว่าเป็นผู้นำในด้านนี้ และแม้มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงมองว่า การหานักลงทุนเป็นเรื่องท้าทาย โดยบริษัทฟิวชันส่วนใหญ่ระบุว่าจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มอีกตั้งแต่ 3 ล้านดอลลาร์ ถึง 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานต้นแบบ

ขณะที่ยอดเงินลงทุนรวมที่ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าจำเป็นนั้นอยู่ที่ 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าเงินทุนที่นักลงทุนให้คำมั่นไว้ถึงประมาณ 8 เท่า อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจช่วยลดจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดที่จำเป็นลงได้

ทั้งนี้ พลังงานฟิวชันเป็นกระบวนการที่ขับเคลื่อนดวงอาทิตย์และดวงดาว ปัจจุบันพลังงานฟิวชันยังคงอยู่ในขั้นทดลอง แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ในอนาคตกระบวนการฟิวชันมีศักยภาพในการผลิตพลังงานจำนวนมหาศาลโดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยังไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีปริมาณมากที่คงอยู่ยาวนานอีกด้วย นักฟิสิกส์กำลังพยายามจำลองปฏิกิริยาฟิวชันนี้โดยการบังคับให้อะตอมของธาตุเบาหลาย ๆ อะตอมรวมตัวกัน โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น เลเซอร์หรือแม่เหล็กขนาดยักษ์ แต่ยังต้องเอาชนะความท้าทายสำคัญหลายประการ เช่น การลดพลังงานที่ใช้ในการจุดปฏิกิริยา การทำให้ปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาระบบถ่ายทอดพลังงาน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 68)