สมาคมโรงแรม-ภัตตาคาร-สปา ชี้ทางรอดธุรกิจท่องเที่ยวไทย: อัดฉีดเชื่อมั่นจีน, ปรับตัวสู่ดิจิทัล, หันจับตลาดไทย!

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ปรับทิศธุรกิจโรงแรมไทย สร้างโอกาสใหม่ในสถานการณ์ท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป” โดยมองว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวปีนี้เริ่มต้นปีได้ดีมาก โดยเฉพาะเดือนม.ค. แต่เดือนก.พ. มีข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย ซึ่งกระแสความไม่เชื่อมั่นนี้ยังคงมีอยู่ ทำให้แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนปีนี้น่าจะต่ำกว่าปีก่อน โดย ณ สิ้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคน หายไปเฉลี่ย 40-45% ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะต่ำกว่าปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องอัตราภาษีสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนด้วย ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการภาษีสหรัฐฯ จะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า โดยจะเห็นผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม และการจ้างงานที่อาจลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวด้วย

“เรื่องภาษีสหรัฐฯ ทำให้การเดินทางไปสหรัฐฯ จะมีค่าครองชีพสูงขึ้น และสหรัฐฯ เองก็เริ่มกีดกันนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ ได้มองเห็นโอกาสในการดึงนักท่องเที่ยว จึงได้คุยกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่ามีประเทศใดบ้างในกลุ่มตลาดระยะใกล้ ที่คาดว่าจะเปลี่ยนใจไม่เที่ยวสหรัฐฯ และจะสามารถดึงกลุ่มนี้ เข้ามาเที่ยวไทยได้บ้าง” นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าว

 

  • เล็งออกมาตรการเสริมเชื่อมั่นความปลอดภัยนักท่องเที่ยวจีน

 

สำหรับมาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวจีนนั้น สมาคมโรงแรมไทย ได้พูดคุยกับ ททท. ในการออกมาตรการ Thai Safe Travel Stamp ซึ่งคาดว่าจะออกมาตรการนี้ไม่เกินกลางเดือนส.ค. 68 โดยจะเป็นการประเมินความปลอดภัยของโรงแรม และออกโลโก้ Thai Safe Travel Stamp ให้แก่โรงแรมทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติเรื่องความปลอดภัยใน 4 เรื่องที่นักท่องเที่ยวจีนมีความกังวล คือ

1. ให้โรงแรมมีการติดตั้ง CCTV แบบทั่วถึง

2. สามารถใช้ Cashless ได้ด้วยความปลอดภัย โดยใช้แพลตฟอร์มของประเทศจีน เช่น Wechat pay หรือ Alipay เป็นต้น

3. การสื่อสารด้านภาษา ป้ายต่าง ๆ อย่างน้อยต้องมีภาษาอังกฤษ หรือจีน เพื่อให้สามารถสื่อสารได้

4. โรงแรมหรือที่พักต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงในการเดินทาง

ทั้งนี้ โลโก้ดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ร่วมกับ Online Travel Agency (OTA) ของประเทศจีนได้ เพื่อเป็นตัวเลือกของนักท่องเที่ยวจีนที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย ให้สามารถเลือกเดินทางมาพักที่ที่ได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัยจริง ซึ่งในอนาคต คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะนำไปใช้กับร้านอาหารด้วย

สำหรับโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง นายเทียนประสิทธิ์ มองว่า เป็นนโยบายที่ดี แต่ในส่วนของสมาคมโรงแรม ไม่ได้มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นหรือพัฒนาเลย และแม้แต่คำชี้แจงก่อนให้ผู้ประกอบการโรงแรมลงทะเบียนก็ยังไม่มี ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสน

“มีบางผู้ประกอบการลงทะเบียน กรอกรายละเอียดราคาไม่ถูก นึกว่ากรอกไปแล้ว จะลดราคาได้ แต่พอลงไปแล้ว ก็ไม่สามารถปรับลดในภายหลังได้ และยังมีคำพูดว่าโรงแรมฉวยโอกาส เพราะรัฐบาลช่วย ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าทุกคนเปรียบเทียบราคา ส่วนที่มีผู้บริโภคมองว่าโรงแรมที่พักมีราคาสูง อยากให้เข้าใจว่าราคาโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน เป็นไปตามช่วงเวลา ถ้ามีบริหารการจองล่วงหน้า หรือไปเที่ยววันธรรมดา ราคาก็จะไม่สูง” นายเทียนประสิทธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสิทธิโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ของประชาชน ก็ยังคงเหลืออีกประมาณ 3 แสนสิทธิ ซึ่งถือว่ายังเหลือเยอะมาก ทั้งนี้ มองว่าเนื่องจากประชาชนอาจยังคงมีความสับสนในระบบการลงทะเบียนอยู่

 

  • ร้านอาหารโอดอยู่ยาก แค่อร่อยไม่พอ ต้องพึ่งโซเชียลมีเดียด้วย

ด้าน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เสวนาในหัวข้อ “ตีโจทย์ธุรกิจร้านอาหาร ทำอย่างไรให้อยู่รอดและเติบโต” ว่า คาดการณ์ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในปี 68 อยู่ที่ 669,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 67 โดยมองว่าร้านอาหารยังเติบโตต่อได้ ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารมีการเติบโตมากจนโอเวอร์ซัพพลาย ดังนั้น เมื่ออยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี จึงเห็นผลกระทบมาก

ทั้งนี้ ผลกระทบของร้านอาหารมาจากเศรษฐกิจซบเซา ค่าแรงสูง ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามา คือ การที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารด้วย

สำหรับร้านอาหารที่ยังอยู่ได้ในยุคที่เกิดสงครามราคานั้น มองว่าเป็นร้านอาหารที่ยังมีความคุ้มค่าต่อผู้บริโภค เช่น ร้านอาหารจานเดียว ร้านแบบบุฟเฟต์ และร้านที่ขายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ขณะที่ในส่วนของร้านอาหารระดับพรีเมียมนั้น เชื่อว่ายอดผู้บริโภคน่าจะลดลง

สำหรับโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ในส่วนของร้านอาหาร มีเข้าร่วมประมาณ 1,900 ราย ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก

“มีหลายคนพูดว่าช่วงโควิด-19 ยังดีกว่าตอนนี้ เพราะตอนนั้นทุกอย่างรัฐบาลช่วย และคนอยู่บ้าน มีการบริโภคเยอะ ธุรกิจที่ตอนนี้เน้นพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจจะลำบาก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงโลซีซั่นของการท่องเที่ยว ปีนี้ร้านอาหารที่ลำบากมีเยอะ ส่วนใหญ่เป็นร้านที่สายป่านสั้น เมื่อก่อนร้านอาหารจำนวนมากคิดว่าอาหารอร่อย อยู่ทำเลดี ก็จะอยู่ได้ แต่ตอนนี้ไม่เพียงพอแล้ว ควรต้องนำโซเชียลมีเดีย และ AI มาปรับใช้ด้วย เพราะผู้บริโภคตัดสินใจมาตั้งแต่ที่บ้านแล้วว่าจะกินร้านไหน” นางฐนิวรรณ กล่าว

 

  • ชี้ทางรอดธุรกิจสปา ปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าไทยมากขึ้น

นายสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย เสวนาในหัวข้อ “Wellness Tourism โอกาสทองธุรกิจสปาไทย” ว่า ในปี 67 ภาคท่องเที่ยวไทยมีรายได้จาก Wellness Tourism สูงถึง 2.28 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปี 66 ถึง 54% ซึ่งถือว่าสูงมาก สะท้อนว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีความแข็งแกร่ง และเติบโตสูง

อย่างไรก็ดี ในช่วงโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ประเทศที่อยู่รอด คือ ประเทศที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ซึ่งตลาด Wellness ในประเทศยังมีสัดส่วนน้อยเพียง 20% ขณะที่อีก 80% ยังเป็นลูกค้าต่างชาติ

“ตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป คนใช้บริการสปาต้องการมากกว่าความผ่อนคลาย เพราะคนเกิดความเครียดมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจต้องปรับกลยุทธ์ หันมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ และปรับให้สอดคล้องตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยมากขึ้น เน้นพึ่งพาตลาดในประเทศมากขึ้น เพื่อการอยู่รอดในทุกวิกฤติ” นายสุนัย กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 68)