ไทย-กัมพูชา: สภาฯ ถกญัตติด่วนหลังเหตุปะทะ “โรม” ชง 6 ข้อเสนอคลี่คลายเหตุการณ์

สภาฯ เสนอญัตติด่วนเหตุปะทะไทย-กัมพูชา “โรม” ชง 6 ข้อเสนอ ชี้เป้าหมายกัมพูชาชัด พร้อมใช้ทุกทางดึงไทยขึ้นศาลโลก แนะไทยต้องตอบโต้เป้าหมายการทหารเท่านั้น ใช้กลไกระหว่างประเทศให้โลกเห็นว่ากัมพูชาจงใจยั่วยุ-โจมตีเป้าพลเรือน

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ สส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ร่วมยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีเหตุปะทะไทย-กัมพูชา โดยในส่วนของพรรคประชาชน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้ยื่นญัตติ พร้อมอภิปรายข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในกรณีดังกล่าว

โดยนายรังสิมันต์ ระบุว่า วันนี้โจทย์สำคัญที่สุดลำดับแรก คือ กัมพูชาต้องการอะไร กัมพูชาต้องการพาประเทศไทยขึ้นสู่ศาลโลก พยายามทำทุกวิถีทาง โดยหนึ่งในวิธีการที่กัมพูชาเชื่อว่าจะนำไทยไปสู่ศาลโลกได้ คือ การมีเหตุรุนแรงระหว่าง 2 ประเทศ กัมพูชาไม่ได้ต้องการใช้อาวุธเพื่อเอาชนะ แต่เพื่อสร้างภาพให้ไทยเป็นประเทศที่ก้าวร้าว และรังแกกัมพูชาให้ได้

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ขอชื่นชมในความอดทนอดกลั้นของทุกฝ่าย ในการหาทางออกโดยใช้กลไกทวิภาคี และการเจรจา แต่ต้องยอมรับว่าการที่ผู้นำกัมพูชา ไม่ได้ให้คุณค่าต่อชีวิตมนุษย์ และพร้อมใช้วิธีการต่างๆ ให้นำไปสู่การขัดกันทางอาวุธอย่างที่เกิดขึ้นวันนี้ ทำให้กลไกในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติเกิดขึ้นยากมากขึ้น

“วันนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องตอบโต้ เป็นสถานการณ์ที่ประเทศไทยไม่มีทางเลือกเป็นอื่น และการตอบโต้ตามที่ได้มีการวางแผนของฝ่ายความมั่นคง คือเพื่อปกป้องประเทศไทยและชีวิตของประชาชนชาวไทย เราไม่อยากให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องปกป้องประเทศชาติของเราอย่างเต็มที่” นายรังสิมันต์ กล่าว

พร้อมฝาก 6 ข้อเสนอ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายสถานการณ์ ดังนี้

1. การตอบโต้มีความจำเป็น แต่ต้องคำนึงถึงภาพของไทยในสายตาต่างประเทศด้วย และเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของอาวุธที่มีอยู่ ไม่มีทางที่การตอบโต้ของไทย จะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่เป็นพลเรือนได้ แต่เพื่อทำให้กัมพูชาไม่สามารถใช้อาวุธที่มีอยู่ในการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและการกระทำต่อเป้าหมายที่ไม่ใช่การทหารได้ การตอบโต้ในระดับนี้มีความจำเป็น เพื่อทำให้ภาพใหญ่ของสถานการณ์ประเทศไทยเป็นผู้ชนะ

2. ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าอย่างไรการขัดกันทางอาวุธที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จะนำมาซึ่งความสูญเสียและผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน ไม่ใช่แค่ที่ จ.สุรินทร์ แต่ทุกอำเภอชายแดนที่ติดกัมพูชา ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แผนการรองรับการอพยพ และการเตรียมการมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ข้าราชการทุกภาคส่วน ต้องมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้ผู้อพยพ

“ในบางพื้นที่ มีการซักซ้อมมานาน แต่บางพื้นที่ การเตรียมความพร้อมอาจไม่ได้เกิดขึ้นในระดับนั้น แผนการอพยพผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ปัญหาเฉพาะหน้า คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แผนการเร่งด่วนต้องรีบออก และต้องมีประสิทธิภาพ” นายรังสิมันต์ กล่าว

3. การแจ้งเตือน วันนี้มีการสอบถามไปยัง กสทช. ว่าระบบการแจ้งเตือนเซลล์บรอดแคสต์ จะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ในการแจ้งเตือนประชาชนในการรับมือสถานการณ์ที่อาจคาดไม่ถึง ข้อเท็จจริงคือ ระบบแจ้งเตือนยังไม่พร้อม ดังนั้นในสถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐบาลควรทำให้เครื่องมือชนิด นี้ได้ถูกใช้ในสถานการณ์นี้ได้แล้ว

“ประชาชนควรได้รับการเตือนภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องมือเซลล์บรอดแคสต์ มีความจำเป็นเร่งด่วน อย่าคิดว่าสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว เครื่องมือนี้ก็ไม่ต้องถูกพิจารณานำมาใช้อีก เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าสถานการณ์นี้ จะกินเวลานานขนาดไหน” นายรังสิมันต์ ระบุ

4. การใช้กลไกระหว่างประเทศ ไม่ว่าสุดท้ายจะมีการใช้อาวุธขนาดไหน สถานการณ์ย่อมต้องจบลงที่การเจรจา แต่ระหว่างนี้จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้เปรียบ และทั่วโลกได้เห็นถึงพฤติกรรมของกัมพูชาที่ยั่วยุ และก่อความรุนแรง ก่อนหน้านี้มีการใช้กับระเบิด ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา และเมื่อเช้า ยังมีการระเบิดเป้าหมายที่เป็นโรงพยาบาล และพลเรือน

ในฐานะประเทศที่มีมิตรประเทศมากมาย การอำนวยความสะดวกให้ทูต ผู้ช่วยทูตทหาร ได้รับฟังข้อมูลอย่างเรียลไทม์และต่อเนื่อง มีความสำคัญมาก รวมถึงไทยสามารถเชิญทูต หรือผู้ช่วยทูตทหารไปยังพื้นที่ที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ เพื่อให้เห็นว่าพฤติกรรมของกัมพูชาที่มีเป้าหมายต่อพลเรือนเกิดขึ้นจริง เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ รับรู้ถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของกัมพูชา

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ไทยจะเพิกเฉยต่อกลไกอาเซียนไม่ได้ รักษาการนายกรัฐมนตรี ต้องรีบยกหูถึงประธานอาเซียน คือ มาเลเซียเพื่อพูดคุยให้เข้าใจถึงสถานการณ์ แม้มาเลเซียจะไม่สามารถมีจุดยืนเข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งได้ แต่สิ่งที่ไทยทำได้ คือ การทำให้มิตรประเทศต่าง ๆ เข้าใจถึงสถานการณ์และต้องไม่ตกหลุมพรางของกัมพูชา ที่พยายามสร้างเรื่องราวว่าประเทศใหญ่รังแกประเทศเล็ก

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องใช้กลไกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อสถานการณ์มาถึงขั้นนี้ ประเทศไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ต้องดำเนินการยื่นเรื่องถึง UNSC อย่างเร่งด่วน เพราะวันนี้ชัดเจนแล้วว่ากัมพูชามีการโจมตีเป้าหมายพลเรือน และกลุ่มเปราะบางที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสู้รบ ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด

“เรื่องนี้ ไทยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ถ้ากัมพูชายื่นก่อน ไทยอาจจะตกในสถานการณ์ที่เสียเปรียบได้ ต้องทำให้นานาอารยประเทศได้เห็นข้อเท็จจริงในวันนี้” นายรังสิมันต์ ระบุ

5. การเผยแพร่ข้อมูล วันนี้มีการรายงานข่าวว่าอาวุธที่กัมพูชาโจมตีทางประเทศไทย เป็นการโจมตีที่ผิดพลาด แต่ข้อเสียของการรายงานข่าวดังกล่าว คือ ถ้ากัมพูชามอนิเตอร์โซเชียลมีเดียของไทย กัมพูชาจะรู้ว่าที่ยิงมานั้นผิดพลาด และสามารถปรับการจัดวางการยิงใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

“การรายงานข่าวที่รวดเร็ว อาจไม่ใช่คำตอบที่ดี โดยเฉพาะหากนำไปสู่การระบุพิกัดที่ชัดเจน อาจเป็นการเปิดโอกาสให้กัมพูชา ปรับวิถีการยิงต่อไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคนไทย และการขัดกันทางอาวุธ ที่ประเทศไทยต้องเจอต่อไปในอนาคตได้” นายรังสิมันต์ ระบุ

6. วันนี้ทราบมาว่าฝ่ายกัมพูชา มีการตั้งกำลังในพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน เหตุผลไม่ใช่เพราะกัมพูชาต้องการปกป้องโบราณสถาน แต่เพื่อใช้โบราณสถาน ซึ่งบางส่วนเป็นมรดกโลก เป็นเกราะคุ้มกันตัวเอง

“เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ไทยโจมตีพลาดไปโดนโบราณสถาน จะเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีโลก และกัมพูชาจะใช้เรื่องนี้ ในการเพิ่มน้ำหนักในการดึงประเทศไทยเข้าสู่ศาลโลกต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ข้อเสนอทั้งหมด 6 ประการนี้ หวังว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ยอมรับว่านำเสนอญัตตินี้ ด้วยความยากลำบาก หลายส่วนเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน และอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด วันนี้พฤติกรรมยั่วยุที่ก้าวร้าวของกัมพูชา เป็นพฤติกรรมที่ต้องถูกประณาม แต่เราต้องมองให้เห็นถึงภาพใหญ่ว่าฝ่ายกัมพูชาต้องการอะไร กัมพูชาพร้อมที่จะแพ้ศึก และสูญเสีย แต่สิ่งที่กัมพูชาต้องการ คือการพาประเทศไทยสู่ศาลโลก ไม่ว่าศาลโลกจะตัดสินอย่างไร กัมพูชาจะถือว่าตัวเองชนะแล้ว

“เพราะฉะนั้นภาพใหญ่ที่ไทยต้องมอง คือ จะทำอย่างไรให้ไม่ใช่แค่ชนะศึก แต่เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไปในระยะยาวของคนทั้งสองประเทศ” นายรังสิมันต์ ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 68)