รมว.คลัง ขอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ-งบประมาณก่อนพิจารณาคนละครึ่ง เฟส 5

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ย้ำว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการต่ออายุมาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 หรือไม่ ซึ่งต้องมีการประเมินปัจจัยหลายด้าน ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการ อย่างไรก็ดี พบว่าดัชนีต่างๆ ที่เป็นตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น มีการจ้างงานในภัตตาคาร ร้านอาหาร ขณะที่โรงงาน มีการเพิ่มกำลังการผลิต มีการจ่ายโบนัส ถือว่าประชาชนเริ่มมีรายได้กลับมาแล้ว มีขีดความสามารถในการใช้จ่ายตามกำลังมากขึ้นแล้ว

“ผมไม่เคยพูด ว่าจะมีการต่อมาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 รวมทั้งการปรับสูตรช่วยจ่ายเงิน ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว ส่วนการจะต่ออายุมาตรการหรือไม่ ต้องประเมินกันต่อไปว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้มีรายได้ประจำ รายได้รายวันเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพิ่มขึ้นอย่างไร หมายความว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความจำเป็นในการเข้าไปกระตุ้นตรงนี้ก็อาจจะต้องลดลงไป” รมว.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า แม้ความจำเป็นในการออกมาตรการจะลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่เข้าไปดูแล เพราะยังคงต้องดูแลระดับการบริโภค โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะเริ่มมีสัญญาณคนเดินทางมากขึ้น คนไทยเดินทางมากขึ้น ต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น มาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายจะทำให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่การจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวยังไม่เต็มร้อย เพราะยังมีนักท่องเที่ยวกลับมาไม่ถึง 40 ล้านคน จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ในส่วนของการกู้เงินเพิ่มเติมนั้น นายอาคม กล่าวว่า ต้องติดตามสถานการณ์เช่นกัน การกู้ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่ากู้เพื่ออะไร อีกด้านหนึ่งก็ต้องดูแลสัดส่วนหนี้สาธารณะ ถ้ากู้เพิ่มระดับหนี้สาธารณะก็จะเพิ่ม แม้จะมีช่องว่างการก่อหนี้เพิ่มอีกอีก 10% ต่อจีดีพี จากการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น 70% ต่อจีดีพี แต่ในส่วนนี้รัฐบาลได้ดำเนินการเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจริง ๆ

“ที่มีการถามอีกว่า ถ้ากู้เพิ่มอีก ก็กลัวจะชนเพดานที่ 70% ต่อจีดีพีนั้น ในแง่ของผมที่ดูแลกระทรวงการคลัง คงต้องดูวินัยการเงินการคลังด้วย เพราะต้องนำเงินกู้ไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่าการไปอัดฉีดเม็ดเงินเยียวยา เมื่อสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรงลดลงแล้ว” รมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ แผนการบริหารหนี้สาธารณะมี 2 ส่วนหลัก คือ แผนการก่อหนี้ใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้ ตรงนี้คือหนี้เดิมที่มีอยู่แล้วแต่นำมาบริหาร เช่น การเจรจาขอยืดเวลาชำระหนี้ เป็นต้น ส่วนแผนการก่อหนี้ใหม่จะมีโครงการต่าง ๆ ทั้งของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมาขอกู้ในลักษณะที่ให้คลังค้ำ และไม่ค้ำประกัน หนี้ก้อนนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มีการประเมินว่าจะใช้เงินราว 8 แสนล้านบาท – 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะขยับขึ้นเป็น 62% โดยไม่มีการก่อหนี้ใหม่ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจเติบโต โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจีดีพีอยู่ที่ 3-4% ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4-5% เมื่อจีดีพีเพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะลดลง

ส่วนกรณีที่บอกว่ากระทรวงการคลังมีการซุกหนี้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง วงเงินดังกล่าวเป็นเรื่องการใช้มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ที่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นนโยบายรัฐบาลได้ โดยใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจออกเงินไปก่อน เช่น โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร หรือการค้ำประกันสินเชื่อของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งรัฐบาลจะตั้งงบคืนให้ในปีงบประมาณถัดไป ดังนั้นอันนี้ไม่ถือว่าเป็นการกู้เงิน แต่เป็นการให้ออกเงินไปก่อน และรัฐบาลตั้งเงินชดใช้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงไม่ใช่การกู้ยืมเงินและไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงกรณีมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 3 บาท ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 20 พ.ค. 65 ว่า ขณะนี้ยังมีเวลาพิจารณาอีกมาก โดยกระทรวงการคลังคลังต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และภาพรวมการจัดเก็บรายได้ด้วย ซึ่งการจัดเก็บรายได้รัฐขณะนี้ถือว่ายังพอได้อยู่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top