Decrypto: การดำเนินคดีแบบกลุ่ม เครื่องมือจัดการ “อีลอน มัสก์”

หนึ่งในข่าวใหญ่ของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงตลาดหมีแบบนี้นั้น คือเจ้าพ่อวงการไอทีนายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ถูกนักลงทุนใน ดอจคอยน์ (Dogecoin) ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 2.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งดอจคอยน์ เป็นโทเคนดิจิทัลที่ใช้รูปของสุนัขชื่อดอจ (Doge) ที่เป็นอินเทอร์เน็ตมีม และเป็นโทเคนดิจิทัลที่นายอีลอน ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว โดยแต่เดิมดอจคอยน์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแค่มุกตลกเท่านั้นจนเมื่อนายอีลอนพูดถึง ก็ทำให้ราคาของดอจคอยน์พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะมีคน (ทั่วโลก) เข้าซื้อขายตามนายอีลอน และเกิดความเสียหาย (ขาดทุน)

การฟ้องร้องของผู้เสียหายนั้นนำโดยนายคีท จอห์นสัน (Keith Johnson) เป็นการฟ้องร้องแบบกลุ่มหรือการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่เป็นรูปแบบการดำเนินคดีที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั่วถึง และเพิ่มอำนาจการต่อรองให้แก่ผู้เสียหายเป็นอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในประเทศไทยก็มีวิธีการดำเนินคดีในรูปแบบดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยมมากนัก

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นการดำเนินคดีที่เกี่ยวพันกับกลุ่มบุคคลเป็นจำนวนมาก มีผลประโยชน์ร่วมกัน มีปัญหาข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง ข้อต่อสู้หรือข้อเรียกร้องที่เหมือนกัน และท้ายที่สุดผลของคำพิพากษาจะผูกพันทุกคนในกลุ่ม แม้ว่าผู้เสียหายหรือผู้เรียกร้องนั้น ๆ จะได้รับความเสียหายหรือเรียกร้องเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อเข้ามาอยู่ในกลุ่มก็จะสามารถดำเนินคดีและได้รับผลคำพิพากษาเช่นเดียวกัน ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาได้อย่างทั่วถึงตามสิทธิของแต่ละบุคคล

เนื่องจากการดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นอาจมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงมีการตั้งตัวแทนกลุ่มในการดำเนินคดี ซึ่งต่างจากการดำเนินคดีแบบทั่วไป คือตัวแทนกลุ่มคนนั้น ๆ จะมีฐานะเป็นตัวความเพื่อดำเนินคดี มีหน้าที่แจ้งหรือบอกกกล่าวให้สมาชิกทราบถึงรายละเอียด การดำเนินการต่าง ๆ ให้พิจารณาว่าจะคงอยู่ในกลุ่มต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือออกมาใช้สิทธิดำเนินคดีเองตอ่ไป ส่วนสมาชิกของกลุ่มจะไม่ได้เป็นคู่ความ มีเพียงฐานะเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ได้รับผลผูกพันตามคำพิพากษาด้วย ซึ่งในคำพิพากษาคดีแบบกลุ่มนั้นนจะกล่าวถึงรายละเอียดของสมาชิกกลุ่มและการคำนวนค่าเสียหายให้กับสมาชิกของกลุ่มแต่ละคนอีกด้วย

ประเภทคดีที่มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ เช่น คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล) ที่หากพิจารณาเป็นรายบุคคลหรือรายย่อยก็จะมีความเสียหายที่ไม่มาก แต่หากพิจารณาในภาพใหญ่หรือรวมความเสียหายของบุคคลที่ได้รับผลกระทบแล้วก็จะมีความเสียหายเป็นจำนวนมากและกว้างขวาง

ประเทศไทยได้กำหนดให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีในรูปแบบดังกล่าวยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหลุดรอดการดำเนินคดี เนื่องจากผู้เสียหายส่วนใหญ่คิดว่าการดำเนินคดีไม่คุ้มค่า ซึ่งในปัจจุบันนี้สภาพของการเชื่อมโยงกันทั่วโลกนั้นไร้พรมแดน มีตลาดขนาดใหญ่และเศรษฐกิจการลงทุนที่เกี่ยวพันกัน และท้ายที่สุดก็อาจจะส่งผลกระทบถึงกันไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถลงทุนหรือซื้อขายจากที่ไหนก็ได้เวลาใดก็ได้ ซึ่งหากการดำเนินคดีแบบกลุ่มแพร่หลายในประเทศไทยแล้วนั้น นอกจากผู้เสียหายจะได้รับความยุติธรรมหรือการคุ้มครองทางกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศที่มีลูกค้าหรือผู้ใช้บริการเป็นคนไทยนั้นจะประกอบธุรกิจให้อยู่ในกรอบหรือแนวทางที่ถูกต้อง ระมัดระวังและยับยั้งชั่งใจในการที่จะฝ่าฝืนกฎหมายหรือการกระทำใด ๆ ที่มิชอบอีกด้วย เพราะลูกค้าหรือผู้ใช้บริการจะสามารถฟ้องร้องเอาความได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการเริ่มต้นดำเนินคดี

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top