
รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G7 ได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ตั้งแต่ภาวะไร้ดุลภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลกไปจนถึงอนาคตของยูเครน แม้จะเกิดความตึงเครียดทั่วโลกอันเนื่องมาจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตาม
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่ประเทศแคนาดา รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G7 ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) โดยระบุว่า “ท่ามกลางความท้าทายอันซับซ้อนนานัปการที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามนโยบายร่วมของเรา”
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้ระบุถึงมาตรการภาษีศุลกากรของปธน.ทรัมป์ในแถลงการณ์ร่วม
แถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม G7 ฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกนับตั้งแต่ปธน.ทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ วาระสองในเดือนม.ค. โดยบรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง ซึ่งรวมถึงสก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประณามสงครามอันโหดร้ายที่รัสเซียยังคงกระทำต่อยูเครน
“กลุ่ม G7 ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนยูเครนอย่างแน่วแน่ ในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนและสิทธิในการดำรงอยู่ของยูเครน รวมถึงเสรีภาพ อธิปไตย และความเป็นอิสระ เพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน” G7 ระบุในแถลงการณ์
ทางด้านเซอร์กี มาร์เชนโก รัฐมนตรีคลังของยูเครน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมหารือกับรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 เป็นการส่วนตัว
รัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 ยังได้หารือเกี่ยวกับสภาวะในปัจจุบันและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐมนตรีหลายคนเตือนเกี่ยวกับ “ความไม่แน่นอน” ที่เกิดจากภาษีศุลกากรที่ปธน.ทรัมป์เรียกเก็บจากประเทศทั่วโลกในอัตราที่สูงขึ้น
นอกจากการประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว ประเด็นที่อยู่ในวาระสำคัญของการเจรจาครั้งล่าสุด ได้แก่ ประเด็นกำลังการผลิตส่วนเกินของจีน รวมถึงสถานการณ์ในยูเครน และการพิจารณาว่าควรจะเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 68)
Tags: G7, ภาษีทรัมป์, ยูเครน