กนช. เห็นชอบร่างโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นศก.กว่า 2 หมื่นรายการ

ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานมีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเป็นกรณีเร่งด่วน และเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 22,309 รายการ เป็นโครงการที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอความเห็น โดยทั้งหมดเป็นโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ภายในช่วง 1 ปี หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบประปาและมีน้ำสะอาดใช้เพิ่มขึ้น 2.4117 ล้านครัวเรือน

นอกจากนี้ พื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง 22.36 ล้านไร่ ยังจะได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ 2.3 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 9.08% ของพื้นที่ ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 13.25 ล้านไร่ จะได้รับการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วม 0.36 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 4.74% ของพื้นที่ ประโยชน์จากโครงการฯ ยังสามารถลดการชะล้างพังทลายของดินได้ 0.18 ล้านไร่ เกิดการจ้างแรงงานกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ประมาณ 250,000 คนต่อเดือน ครัวเรือนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ 3.374 ล้านครัวเรือน และมีมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม 124,648.42 ล้านบาท โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบกำกับการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 อย่างเคร่งครัด

ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาดำเนินงานและเพิ่มกรอบวงเงินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและรองรับการขยายตัวและความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาดำเนินการเดิม 4 ปี (ปีงบประมาณ 65 – 68) เป็น 6 ปี (ปีงบประมาณ 65 – 70) และขยายกรอบวงเงินงบประมาณจากเดิม 3,651.62 ล้านบาท เป็น 4,291.62 ล้านบาท และมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว

อีกทั้งที่ประชุมได้พิจารณาการขออนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง โดยเป็นคำขออนุญาตของกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 4 คำขอ และกรมชลประทาน 1 คำขอ ซึ่ง สทนช. ได้พิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบแล้วว่ามีความครบถ้วนและสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานติดตามการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การปรับปรุงแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด รวมถึงเห็นชอบผังน้ำเพิ่มเติม ได้แก่ ผังน้ำลุ่มน้ำสาละวิน เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยได้มอบหมายให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณฝน รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมการป้องกันหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ขณะเดียวกัน ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้มีปริมาณน้ำที่เหมาะสมเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ โดยให้คำนึงถึงปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้งถัดไปด้วย พร้อมเน้นย้ำให้ สทนช. กำกับและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเข้มข้น เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top