
สหภาพยุโรป (EU) ตกลงที่จะเร่งการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวก และเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์ EU ว่า เอาเปรียบสหรัฐฯ และดำเนินการเจรจาอย่างล่าช้า
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นภายในเวลา 1 วัน หลังจากที่เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการ (EC) หารือกับทรัมป์ทางโทรศัพท์ โดยหลังการพูดคุยกันดังกล่าว ทรัมป์ได้ขยายกำหนดเส้นตายในการเรียกเก็บภาษีกับ EU ในอัตรา 50% ออกไปอีก 1 เดือนไปเป็นวันที่ 9 ก.ค. เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจามากขึ้น พร้อมเปิดเผยกับบรรดานักข่าวในวันอาทิตย์ (25 พ.ค.) ว่า “การพูดคุยราบรื่นมาก และผมเห็นด้วยที่จะขยายเวลาออกไป”
พอลา ปินโญ โฆษกหญิงของ EC ระบุว่า ทั้งสหรัฐฯ และ EU เห็นพ้องกันที่จะเร่งการเจรจาทางการค้าและติดต่อกันอย่างใกล้ชิด
คำขู่รีดภาษีในอัตรา 50% ของทรัมป์ จะส่งผลกระทบกับการค้ามูลค่า 3.21 แสนล้านดอลลาร์ระหว่างสหรัฐฯ กับ EU ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับใกล้ 0.6% และทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้นกว่า 0.3%
หลายฝ่ายคาดว่า มารอส เซฟโควิช ผู้นำด้านการค้าของ EU จะหารือกับ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (26 พ.ค.) ขณะที่ทูตจาก EU มีกำหนดการจะประชุมในนาทีสุดท้ายเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดกับ EC ด้วย
ทั้งนี้ การเจรจาจนถึงขณะนี้ยังคงประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ฝ่ายยุโรประบุว่ายังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไร หรือใครเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประธานาธิบดี ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ เองก็ตำหนิ EU ว่ากำหนดข้อบังคับและฟ้องร้องบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 68)
Tags: EU, มหาสมุทรแอตแลนติก, สงครามภาษี, สหภาพยุโรป, สหรัฐ, โดนัลด์ ทรัมป์