
คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกโรงเตือนในวันนี้ (27 พ.ค.) ว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงอาจดันผลักเงินเฟ้อที่แท้จริง (Underlying Inflation) ให้ขยับสูงขึ้นไปอีก จากที่ปัจจุบันก็เข้าใกล้เป้าหมาย 2% อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ พร้อมเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
“แม้เราจะมองว่าผลกระทบจากราคาอาหารน่าจะค่อย ๆ ลดลง แต่เมื่อเงินเฟ้อที่แท้จริงเข้าใกล้ 2% มากกว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน เราก็ต้องจับตาดูผลกระทบจากราคาอาหารต่อเงินเฟ้อที่แท้จริงอย่างใกล้ชิด” อุเอดะกล่าวในการประชุมที่ BOJ เป็นเจ้าภาพ
อุเอดะชี้ว่า ราคาอาหารที่กลับมาแพงขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่ราคาพุ่งถึง 90% ไม่เพียงแต่ดันเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) แต่ยังกระทบถึงเงินเฟ้อที่แท้จริง ซึ่งปกติมักจะมาจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและตลาดแรงงานที่ตึงตัว
ความกังวลดังกล่าวยิ่งเพิ่มสูงขึ้น หลังข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของญี่ปุ่นเดือนเม.ย.พุ่งแตะ 3.5% สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารที่แพงขึ้น 7% ทำให้ตลาดมองว่ามีโอกาสสูงที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้
อุเอดะกล่าวว่า ปัจจุบัน BOJ ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ เพราะการคาดการณ์เงินเฟ้อ หรือมุมมองของคนทั่วไปต่อทิศทางราคาในอนาคต อยู่ที่ราว 1.5-2% ซึ่งแม้สูงสุดในรอบ 30 ปี แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้า 2%
ถึงแม้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ BOJ ก็ยังคงส่งสัญญาณว่าจะค่อย ๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2% อย่างยั่งยืน โดยมีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในประเทศที่แข็งแกร่งและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง ไม่ใช่แค่จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ราคาอาหารที่ยังคงแพงต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้นนั้น ทำให้ BOJ ตัดสินใจด้านนโยบายได้ลำบาก เพราะกระทบทั้งการบริโภคไปพร้อมกับดันเงินเฟ้อทั่วไปให้สูงกว่าเป้า
ทั้งนี้ อุเอดะย้ำว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อบ่งชี้ทิศทางที่ดีขึ้นและสร้างความมั่นใจ BOJ ก็พร้อมจะปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสม แม้ BOJ ลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงบ้างจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า แต่ยังคาดว่าเงินเฟ้อที่แท้จริงจะค่อย ๆ ขยับเข้าเป้า 2% ได้ในช่วงครึ่งหลังของแผนคาดการณ์ของ BOJ ไปจนถึงปีงบประมาณ 2570
ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ BOJ เพิ่งยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่ใช้มานับทศวรรษเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา BOJ ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็น 0.5% เพราะเห็นว่าญี่ปุ่นใกล้จะคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่เป้า 2% ได้อย่างยั่งยืน
ด้านออกัสติน คาร์สเตนส์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ให้ความเห็นในงานประชุมเดียวกันนี้ว่า “ที่ผ่านมาเราอาจเน้นใช้เครื่องมือนโยบายที่ส่งผลผ่านฝั่งอุปสงค์มากไป ตอนนี้ต้องหันมาทำความเข้าใจปัจจัยฝั่งอุปทานที่กระทบเงินเฟ้อให้มากขึ้น”
อนึ่ง ปกติแล้วธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ มักจะมองข้ามผลกระทบจากปัจจัยช็อกด้านอุปทานที่มีต่อเงินเฟ้อ แต่แนวทางนี้เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรปต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ เพราะรับมือเงินเฟ้อจากสงครามยูเครนไม่ทัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 68)
Tags: BOJ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ราคาอาหาร, อัตราดอกเบี้ย, เงินเฟ้อ