สภาผู้บริโภคขอศาลฯคุ้มครองชั่วคราวเบรก กสทช.ประมูลคลื่นความถี่ วอนปรับเงื่อนไขเปิดทางรายใหม่สู้

สภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรการด้านการสื่อสารฯ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เดินทางมายื่นฟ้อง กรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช.กรณีเปิดประมูลคลื่นความถี่ที่ขาดความเป็นธรรมและขาดการคุ้มครองผู้บริโภค โดยขอให้ศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉิน กรณีที่สำนักงาน กสทช. ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านเมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300

สภาองค์กรผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดเหลือน้อยราย ขณะที่มีปัญหาเครือข่ายล่ม สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยคลื่นที่นำมาประมูลกำลังจะสิ้นสุดสัมปทานของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) การนำคลื่นมาประมูลในขณะที่เหลือผู้แข่งขันรายใหญ่ 2 ราย อาจทำให้คลื่นไปสู่มือของเอกชนที่มีสิทธิได้คลื่นไปครอบครอง ทำให้รัฐวิสาหกิจหายไปจากตลาดและผู้บริโภคไม่มีทางเลือก

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เราไม่ได้คัดค้านการประมูล แต่อยากให้ออกแบบการประมูลที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้รายเล็กได้มีโอกาสแข่งขัน จึงอยากให้ กสทช.ทบทวนประกาศในส่วนของวิธีการประมูล กระบวนการและเงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงราคาเริ่มต้น

“ขอให้ กสทช.ทบทวนเงื่อนไขการประมูลที่เป็นธรรมเป็นประโยชน์กับประเทศชาติกว่านี้ เราร้องขอศาลให้คุ้มครองประชาชนและไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ เพราะวิธีประมูลไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน กระบวนการประมูลก็ไม่ทำให้เกิดการดันราคา เราอยากให้ กสทช.ตอบว่าการประมูลนี้ใครได้ประโยชน์ ถ้าเหลือผู้แข่งขันสองรายราคาเริ่มต้นควรเป็นธรรมกับรัฐ ให้มีการแก้ไขประกาศฯ ตอนนี้ยังทัน โดยควรมีหลักประกันให้ผู้บริโภคด้วย”

นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศของ กสทช. และให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด และมีกลไกควบคุมคุณภาพบริการหลังประมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม

ขณะที่ตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยขณะนี้เหลือผู้ประกอบการหลักเพียง 2 รายใหญ่คือ AIS และTRUE ทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมาก แต่ประกาศของ กสทช. กลับไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดที่ผูกขาด เช่น ไม่กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการประมูลเพื่อควบคุมราคาค่าบริการในอนาคต ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจเหนือตลาด หรือไม่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอแผนคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน

สถานการณ์ตลาดปัจจุบันหลังการควบรวมกิจการ ทำให้ TRUE และ AIS ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 97.29% โดยไม่มีคู่แข่งรายใดสามารถต่อกรได้ อีกทั้งในการประมูลครั้งนี้ยังคาดว่าจะไม่มีผู้เข้าร่วมรายใหม่ โดยเฉพาะเมื่อ NT ไม่พร้อมเข้าร่วมประมูลตามที่เคยประกาศไว้ และไม่มีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับการใช้งานคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ขณะที่ TRUE และ AIS ต่างมีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับคลื่นที่ตนถือสิทธิ์อยู่ ส่งผลให้โอกาสในการแข่งขันแทบไม่มี และเปิดทางให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ครองตลาดโดยไร้คู่แข่ง โดยคลื่น 2300 MHz กลุ่มทรู (เดิมดีแทคได้คลื่นนี้) ใช้งานอยู่ และคลื่น 2100MHz มี AWN ใช้งานคลื่นนี้

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติอนุมัติให้ NT เข้าร่วมประมูล และ NT เองก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ในการเตรียมตัวเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งที่การประมูลจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้โอกาสของ NT ในการถือครองคลื่นใช้งานในอนาคตริบหรี่ลง และลดโอกาสในการคงอยู่ของผู้เล่นที่ไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่

กสทช. เองก็ยังไม่มีแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด และกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลไว้อย่างต่ำผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการเช่าคลื่นความถี่ในอดีต เช่น คลื่น 2100 MHz มีราคาขั้นต่ำเพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 3 ชุด รัฐจะมีรายได้เพียง 13,500 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าในอัตราปีละ 3,900 ล้านบาท หากครบ 15 ปี จะสร้างรายได้ถึง 58,500 ล้านบาท

ส่วนคลื่น 2300 MHz กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 2,596.15 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 6 ชุดจะนำรายได้เข้ารัฐเพียง 15,576 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าคลื่นนี้ปีละ 4,510 ล้านบาท หากรวม 15 ปีจะมีรายได้ถึง 67,650 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้บริโภค ชี้ว่าการตั้งราคาประมูลต่ำขนาดนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ และอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าบริการที่ควรถูกลงแต่ไม่มีการบังคับหรือกลไกควบคุม

ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจของสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนกระบวนการจัดประมูล แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ ทำให้เห็นว่าการปล่อยให้การประมูลดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้บริโภคในระยะยาว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

สำหรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองครั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอให้ศาลมีคำสั่ง ดังนี้

  1. ขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz และ ประกาศสำนักงานกสทช. เรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ลงวันที่ 29 เมษายน 2568 เฉพาะในส่วนคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz

  2. ขอให้ศาลปกครองกลางได้โปรดมีคำสั่งให้ กสทช.แก้ไขประกาศฯในส่วนของการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีความเหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ในการคิดราคาขั้นต่ำโดยอยู่บนพื้นฐานอ้างอิงจากค่าเช่าในสัญญาต่างตอบแทนที่ NT ทำสัญญาต่างตอบแทนกับกลุ่ม TRUE และ AWN ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม AIS คำนึงถึงประโยชน์ของชาติและการคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อป้องกันการผูกขาดและให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย

  3. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้ กสทช. แก้ไขประกาศฯ เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีการจัดประมูลแยกกันตามคลื่นความถี่ คำนึงถึงสภาพการแข่งขันที่เหลือผู้เล่นเพียงสองราย และให้กำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการประมูลส่งเสริมให้เกิดผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เพื่อเพิ่มการแข่งขันของตลาดตลอดจนมีการกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประมูลมีการเสนอแผนในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน

  4. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้ กสทช. กำหนดใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยให้บริษัทที่ชนะการประมูลทำสัญญาเช่ากับ NT และให้นำค่าเช่าส่งเป็นรายได้กลับเข้ารัฐ

  5. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้ กสทช.ทำหน้าที่กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามประกาศ กสทช. และกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

“การร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้ เพื่อให้กสทช.ขยายกรอบเวลาในการทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น ซึ่งยังไม่มีรายใดได้รับรับความเสียหาย”สภาผู้บริโภค ระบุ

ทั้งนี้ ในวันที่ 29 พ.ค. 68 กสทช.จะเปิดให้เอกชนยื่นคำขอใบอนญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz และเตรียมจัดประมูลคลื่นในวันที่ 29 มิ.ย. 68

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top