
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ [BBL] ประกาศคงเป้าหมายการเติบโตของ BBL ในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3-4% ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจในไทยและต่างประเทศ โดยมองว่าธุรกิจด้านคอร์ปอเรทแบงก์กิ้ง และธุรกิจต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของ BBL ในปีนี้ โดยเฉพาะผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซียที่จะเข้ามาช่วยหนุนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคาดว่าจะเติบโตสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่คาดว่าจะขยายตังได้สูงถึง 5% ในปีนี้
“3-4% ไม่ใช่ของง่าย ๆ แต่เราไม่ได้เปลี่ยนแปลง Target ที่ตั้งไว้ โดยทั่วไปพยายามยืนเป้าของเรา ซึ่งที่ผ่านมาก็ไปได้ดีพอสมควร…แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีความท้าทายด้านต่าง ๆ แต่ก็มีโอกาสด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นมีผสมกันทั้งสองด้าน” นายชาติศิริ กล่าว
นายชาติศิริ กล่าวว่า ความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเจรจาการค้าของประเทศขนาดใหญ่ด้วยกัน แต่ความผันผวนนั้นก็ยังมีโอกาส โดยในช่วงที่ผ่านมาก็เห็นได้ว่าการส่งออกของไทยเร่งตัวขึ้น และในที่สุดแล้วก็เชื่อว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะกับจีน จะบรรลุข้อตกลงกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อสัญญาณต่าง ๆ ชัดขึ้น แนวโน้มการลงทุนก็จะมีมากขึ้น ซึ่งไทยเองก็เป็นประเทศที่สงบและมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ แน่นอนว่ามีความท้าทายเกี่ยวกับความสามารถในการอุปโภคบริโภค แต่ถ้าโครงการลงทุนต่าง ๆ เดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ การอุปโภคบริโภคก็จะตามมาเป็นพื้นฐานให้เศรษฐกิจเราขยายตัว และภาคธุรกิจก็จะขยายตามมา
ขณะเดียวกัน BBL ยังเดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องในฐานะหนึ่งในธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะรักษาสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 23-24% โดยเฉพาะหลังจากเข้าซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค (ธนาคารเพอร์มาตา) ในอินโดนีเซียเข้ามาตั้งแต่ปี 63 ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ที่ดีเข้ามาให้กับ BBL โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศไทยเติบโตไม่ได้มากนัก
นายชาติศิริ กล่าวว่า ธนาคารเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาว โดยหลังจากซื้อธนาคารเพอร์มาตา ก็ได้รวบสาขา BBL 3 แห่งในอินโดนีเซีย ได้แก่ จาการ์ตา สุรายาบา และเมดาน เข้ากับธนาคารเพอร์มาตา เพื่อผสานจุดแข็งของทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกัน มอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า อีกทั้งยังเป็นช่องทางการจับคู่ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพภายใต้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างครบวงจร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ทั้งสองธนาคารเติบโตอย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินโดนีเซียให้แน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเต็มรูปแบบของอินโดนีเซียในปีนี้ ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก BBL จึงได้สนับสนุนธนาคารเพอร์มาตาตั้งฝ่ายพัฒนาและที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Development and Advisory Directorate) เพื่อเป็นศูนย์การรองรับทั้งลูกค้าในเครือข่ายของ BBL ในกลุ่มอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย และลูกค้าในอินโดนีเซียที่ต้องการไปลงทุนประเทศอื่นในภูมิภาค โดยช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ จัดหาเงินทุนสำหรับโครงการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
“หน่วยงานบริการนี้เป็นการประสานจุดแข็งด้านเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพในระดับภูมิภาคเข้ากับความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นของธนาคารเพอร์มาตา เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอาเซียน (Connecting ASEAN) ของธนาคารกรุงเทพ”นายชาติศิริ กล่าว
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 การลงทุนของไทยในอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วงปี 60-65 นักลงทุนไทยมีการลงทุนรวม 1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกว่า 1,400 โครงการทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซีย 10.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 67 ขณะที่ไทยเป็นจุดหมายส่งออกใหญ่อันดับ 4 ของอินโดนีเซีย มูลค่าสูงถึง 7.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นางเมลิสา รุสลิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพอร์มาตา กล่าวว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพสูง พร้อมด้วยทรัพยากรและแรงงาน โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “Golden Indonesia” เน้นขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจสีเขียว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 88
จากยุทธศาสตร์นี้ ธนาคารเพอร์มาตา ได้เล็งเห็นโอกาสสำคัญและผลักดันลูกค้าและพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อคว้าโอกาสต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างครบวงจร สำหรับกลุ่มลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยมีทั้งบริการการเงินทั่วไปและระบบการเงินอิสลาม (Sharia)
ในปี 67 ธนาคารเพอร์มาตา ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ตราสัญลักษณ์บัวหลวง เพื่อสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวในมาตรฐานการบริการ ภายใต้แนวคิด “One Family One Team” ณ สิ้นปี 67 ธนาคารเพอร์มาตามีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปี 66 และมีสัดส่วนสินเชื่อราว 12% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของ BBL โดยตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการในปี 2563 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของ BBL เพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25% (ข้อมูล ณ ธ.ค.67) ส่งผลให้ปัจจุบันธนาคารเพอร์มาตาเป็น 1 ใน 10 แบงก์ใหญ่ของอินโดนีเซีย จากธนาคารทั้งหมดกว่า 100 ธนาคาร มีเครือข่ายสาขาให้บริการ 240 สาขา กระจายอยู่ใน 82 เมืองสำคัญ รองรับบริการลูกค้ากว่า 6.2 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.68)
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ในที่สุดแล้วธาคารเพอร์มาต้าจะมีโครงสร้างธุรกิจในโมเดลเดียวกับ BBL ที่มีธุรกิจหลากหลาย เช่น หลักทรัพย์ บริหารจัดการการลงทุน ประกัน เป็นต้น เพื่อให้บริการกับลูกค้าได้อย่างครบวงจร จากปัจจุบันที่เน้นด้าน Retail Banking เป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเพอร์มาต้าขยับอันดับขึ้นไปจากการธนาคารใหญ่อันดับ 8 ของอินโดนีเซียได้
BBL ยังมองโอกาสที่ธนาคารเพอร์มาตาจะช่วยต่อยอดการบริการให้กับลูกค้าทั้งสองประเทศในการขยายการลงทุนข้ามชาติ โดยเฉพาะในอาเซียนที่กำลังเติบโตขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก โดยทั้งสองธนาคารจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าและช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจ ซึ่ง BBL เองก็มีความแข็งแกร่งในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Regional Bank อันดับต้น ๆ ในภูมิภาค มีเครือข่ายให้บริการในทุกประเทศของอาเซียน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 68)
