
นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงแนวคิดในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ภาคการท่องเที่ยว ในงาน SPLASH-Soft Power Forum 2025 ว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 11 ด้าน และซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 5 หลักสำคัญ ล้วนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งนโยบายของกระทรวงฯ ได้ดึงจุดเด่นทั้งหมดของประเทศไทย โดยเฉพาะจุดแข็งของคนไทยที่มี “เซอร์วิสมายด์” และไม่มีทางหายไปไหน แม้ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจต่าง ๆ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังกลับมาเมืองไทย เพราะคนไทยคือสิ่งสำคัญและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตัวจริง
“ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเสาหลักที่จะช่วยเรื่องการท่องเที่ยว และกีฬาของไทย และทำให้มีเม็ดเงินเกิดขึ้นในอนาคต เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะทำ KPI ให้บาลานซ์ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้ที่จะเข้ามา” นายสรวงศ์ กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวไทยนั้น เชื่อว่าถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ไทยถือว่ามีความปลอดภัย แต่ก็ยอมรับว่าไทยเป็นเป้าหนึ่งที่ถูกโจมตี เพราะในปี ๆ หนึ่งไทยมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาไทยเยอะมาก โดยปี 67 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเกือบเท่ากับก่อนช่วงโควิด-19
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานอย่างเต็มที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยตำรวจท่องเที่ยวในไทยที่มีถึง 1,800 นาย และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความปลอดภัย และแหล่งท่องเที่ยวจุดไหนที่มีรถโมบายของตำรวจท่องเที่ยวไปจอด ก็สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่า AI สามารถตรวจจับได้หมด
“เรื่องความปลอดภัย พวกเราต้องช่วยกัน สิ่งที่เป็นกังวลที่สุด คือคนไทยทำร้ายกันเอง ทั้งนี้ สื่อระดับโลก ได้โหวตให้ประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ ว่าเป็นเมืองที่สามารถท่องเที่ยวคนเดียวได้ ผู้หญิงคนเดียวเดินทางไปเที่ยวได้ แต่พอไปดูในฟีด กลับมีคนไทยไปดิสเครดิตประเทศตนเอง ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์” นายสรวงศ์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง โดยเฉพาะตลาดจีนนั้น นายสรวงศ์ กล่าวว่า เป็นการลดลงทั้งโลก เพราะประเทศจีนมีการรณรงค์ให้คนเที่ยวในประเทศ แต่ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งตลาดจีน ขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่ง ก็มองเป็นโอกาสที่จะคัดนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้นด้วย
สำหรับยุทธศาสตร์ภาคท่องเที่ยวในระยะยาว นายสรวงศ์ กล่าวว่า ในภาคท่องเที่ยวไม่ได้ดูเฉพาะหน้างานอย่างเดียว แต่มีการวางแผนในเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่าง sustainability ซึ่งนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีเรื่องอื่นด้วย เช่น เรื่องความเท่าเทียม
ดังนั้น ต้องกลับมามองว่าไทยควรหรือไม่ที่จะเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน โดยที่เคยเสนอไปคือ เก็บนักท่องเที่ยวในอัตรา 300 บาท แต่ก่อนเคยเสนอแต่ว่าเขาเข้ามาในประเทศต้องเสีย 300 บาท แต่เราไม่เคยพูดว่าในจำนวนเงินนี้ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งตนเสนอว่า ควรมี travel insurance (ประกันภัยการเดินทาง) เราต้องมองว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามา อย่างน้อยที่สุดเข้ามาใช้ทรัพยากรของเรา จึงต้องมีงบที่จะดูแลทรัพยากรในอนาคต
นายสรวงศ์ ยังกล่าวถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ว่า เป็นตัวช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก โดยปีที่แล้ว มีภาพยนตร์ต่างชาติถ่ายทำในไทยเกือบ 500 เรื่อง ทำเงินให้ไทยมีรายได้เข้าประเทศเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
“จากสถานการณ์ปีที่แล้ว เรามองว่าปีนี้เป็นปีทองแน่ ๆ เลยประกาศให้ปีนี้เป็นปีท่องเที่ยว แต่พอเริ่มต้นปี ก็เกิดแผ่นดินไหว มีสงครามตะวันออกกลาง นักท่องเที่ยวอิสราเอล คิดว่าจะเพิ่มจากปีก่อน 80% แต่พอเกิดสงคราม เลยลดเป้าเหลือ 40-50% แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ตัวเลขนักท่องเที่ยว ต้องบาลานซ์เรื่องรายได้ ให้เขาอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้นด้วย สำหรับเป้าหมายสูงสุด คืออยากให้ได้นักท่องเที่ยวในระดับก่อนโควิด ถึง 40 ล้านคน รายได้แตะ 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกภาคส่วนก็พยายามไปให้ถึงเป้าหมาย ถ้าไม่ถึงจริง ๆ ก็จะพยายามให้ดีที่สุด” รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 68)