
การเจรจาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไร้ข้อสรุป กำลังสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ให้ต้องขึ้นราคาเพื่อชดเชยต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อของผู้บริโภค และจะยิ่งเป็นการบีบรัดกำไรของบริษัท
เดิมทีกำหนดเส้นตายสำหรับภาษีตอบโต้ หรือภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ คือวันที่ 9 ก.ค. แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขยายเดดไลน์ดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. เปิดทางให้ประเทศคู่ค้ามีเวลาเจรจาต่อรองนานขึ้น แต่เนื่องจากญี่ปุ่นย้ำจุดยืนหลายครั้งว่าต้องการข้อตกลงที่ไม่เพียงพุ่งเป้าไปที่ภาษีตอบโต้เท่านั้น แต่ยังหวังครอบคลุมภาษีรถยนต์และประเด็นทางการค้าอื่น ๆ ด้วย จึงส่งผลให้การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และทำให้ความหวังของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มเลือนลางลงเรื่อย ๆ
* ภาษีทรัมป์พ่นพิษ
อัตราภาษีรวม 27.5% สำหรับรถยนต์นำเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. กำลังส่งผลให้ความต้องการรถยนต์โดยรวมชะลอตัวลง นักวิเคราะห์ชี้ว่า ผู้ผลิตที่มีรถยนต์ไฮบริดหลากหลายรุ่นให้ลูกค้าเลือก อาจจะอยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่าในแง่ของการรับมือกับผลกระทบนี้
ฮิโรกิ ชิบาตะ กรรมการผู้จัดการของ S&P Global Ratings กล่าวว่า “ผู้ผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีปริมาณการขายต่ำหรือกำลังเผชิญวิกฤตการบริหาร จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องขึ้นราคารถยนต์” พร้อมเสริมว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตรถยนต์ที่จะขึ้นราคาสินค้านั้น จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ซึ่งสูงกว่าอัตราเดิมที่กำหนดไว้ 24% อยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการภาษีล่าสุดนี้จะไม่มีผลกับภาษีเฉพาะภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม
จุนอิจิ มากิโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก SMBC Nikko Securities ให้ความเห็นว่า “ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ ไม่มีเจตนาที่จะลดภาษีรถยนต์ เพราะหากทำเช่นนั้น ภาวะขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นก็จะไม่ได้รับการแก้ไข” เนื่องจากรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70% ของสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากญี่ปุ่น
“รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะล้มเลิกความพยายามในการลดภาษีรถยนต์ และหันไปเจรจาเพื่อลดภาษีในรายการสินค้าอื่น ๆ แทน” มากิโนะกล่าว
* ค่ายรถญี่ปุ่นเร่งปรับตัว
ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นสามอันดับแรก ยูตะ มิสุมิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ S&P Global Ratings คาดว่า โตโยต้าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการขึ้นราคา เนื่องจากกระแสความต้องการรถยนต์ไฮบริดในตลาดสหรัฐฯ น่าจะยังคงแข็งแกร่ง โดยโตโยต้าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่เปิดตัวรถยนต์ไฮบริดออกสู่ท้องตลาดหลากหลายรุ่น
รถยนต์ไฮบริดกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดรถยนต์สหรัฐฯ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 36% เมื่อปีที่แล้ว ตามข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)
ฮอนด้า เป็นอีกค่ายรถญี่ปุ่นที่ดึงดูดลูกค้าในสหรัฐฯ ด้วยรถยนต์ไฮบริดเช่นกัน และยอดขายที่แข็งแกร่งในสหรัฐฯ กำลังช่วยชดเชยตัวเลขที่ซบเซาในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนนิสสัน กำลังมุ่งปรับโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงการลดกำลังการผลิตและกำลังคนทั่วโลก
โตโยต้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในด้านปริมาณ ได้เปิดเผยกำไรจากการดำเนินงานลดลง 1.8 แสนล้านเยน (1.24 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบของภาษีในช่วงสองเดือนแรกของปีงบการเงินปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2569
ขณะที่นิสสันคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานตลอดทั้งปีอาจลดลงสูงถึง 4.5 แสนล้านเยน ส่วนฮอนด้าประมาณการว่าผลกระทบจากภาษีรถยนต์อาจสูงถึง 6.5 แสนล้านเยนในปีงบการเงินปัจจุบัน
* ปรับราคาคือทางออกเร่งด่วน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา โตโยต้าได้ขึ้นราคารถยนต์แบรนด์โตโยต้าเฉลี่ย 270 ดอลลาร์ต่อคัน และ 208 ดอลลาร์สำหรับรถยนต์หรูในไลน์เลกซัส ส่วนมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้ขึ้นราคาเฉลี่ย 2.1% สำหรับรถยนต์บางรุ่น
อย่างไรก็ดี โตโยต้าให้เหตุผลที่ปรับขึ้นราคาว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทบทวนประจำปี ขณะที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ชี้แจงว่า ราคาใหม่ไม่ได้เป็นผลมาจากภาษีรถยนต์ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงแรกที่มาตรการภาษีมีผลบังคับใช้นั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้ระงับการส่งมอบรถยนต์จากท่าเรือสหรัฐฯ ไปยังตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่
ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ มีรายงานว่า ฟอร์ด มอเตอร์ ขึ้นราคารถยนต์บางรุ่นที่ผลิตในเม็กซิโกและส่งไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ ซูบารุ ที่ขึ้นราคารถยนต์เช่นกัน
เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา S&P Global Ratings ได้ปรับลดคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ปี 2569 ในสหรัฐฯ ลง 1 ล้านคัน เหลือ 15 ล้านคัน โดยอ้างถึงความต้องการที่อ่อนแอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังคงมองว่า วิธีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในการบรรเทาแรงกดดันจากภาษีคือการผลักภาระต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้า
อีกทางเลือกหนึ่งคือ การสร้างโรงงานใหม่ในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลทรัมป์พยายามผลักดันผ่านนโยบายการค้า
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า การสร้างโรงงานใหม่จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มดำเนินการได้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ยังจะต้องจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานบางส่วนใหม่ โดยการโน้มน้าวซัพพลายเออร์ให้จัดหาสินค้าให้กับโรงงานใหม่เหล่านี้ ขณะเดียวกัน ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ และความจำเป็นในการจัดหาส่วนประกอบสำคัญบางอย่างจากจีน ก็เป็นความท้าทายเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 68)