
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองหุ้นไทยมีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุน แม้เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอนจากประเด็นภาษีการค้า แต่ความน่าสนใจโดดเด่นด้วย P/E ต่ำ-Dividend Yield สูง ทำให้ Downside Risk จำกัด เตรียมดัน “New Economy” เข้าตลาด พร้อมเพิ่มสภาพคล่องรองรับนักลงทุนรายย่อย
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดทุนกำลังเผชิญความผันผวน โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนของประเด็นภาษีการค้าที่อาจกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มองว่า Valuation ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยมี P/E ต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) ค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้ Downside Risk อยู่ในระดับต่ำ
ตลท. ตระหนักถึงผลกระทบจากประเด็นภาษีการค้าต่อบางอุตสาหกรรม และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างลึกซึ้งในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนนี้ พร้อมกันนี้ ตลท. มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนนักลงทุนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และชัดเจน เพื่อการตัดสินใจลงทุนที่ดี
จุดเด่นของตลาดหุ้นไทยในมุมมองนักลงทุน
Valuation ดึงดูด: P/E อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค
ปันผลสูง: Dividend Yield ค่อนข้างสูง ทำให้เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสด
Downside Risk ต่ำ: ด้วย Valuation ที่น่าสนใจ และปันผลที่สูง ทำให้ความเสี่ยงขาลงของตลาดยังจำกัด
“แน่นอนว่าประเด็น Tariff ยังมีผลกระทบกับบางอุตสาหกรรม ณ วันนี้ต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกซึ้งจากความผันผวนนี้ .. ผมว่ายังมีโอกาสอยู่ในตลาดทุนของเรา แค่จะต้องเลือก วิเคราะห์ให้ดี หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยากจะช่วยเหลือทุกคนก็คือ มีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และชัดเจนในการ ตัดสินใจการลงทุน”นายอัสสเดช กล่าว
ผู้จัดการ ตลท. กล่าวอีกว่า พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโต แม้ว่าจะเติบโตช้าลง แต่ Downside risk ค่อนข้างต่ำ ซึ่งต้องร่วมมือกันผลักดันกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะใกล้เคียงปีที่แล้วหรืออาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย แต่ที่สำคัญรัฐบาลก็อยากดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น ทำให้แม้จำนวนจะลดลงแต่ยอดใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น ก็ช่วยธุรกิจภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับกลุ่ม Healthcare
กลยุทธ์ของ ตลท. เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุน
นายอัสสเดช กล่าวว่า เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและรองรับการเติบโตในอนาคต ตลท. กำลังดำเนินการหลายประการ:
ดึงดูด New Economy: ตลท. กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ล.ต. เพื่อดึงดูดบริษัทจากอุตสาหกรรมใหม่ๆ (New Economy) เข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนไทยมากขึ้น รวมถึงพิจารณากระดาน Livex สำหรับบริษัท Startup หรือ SME เพื่อให้ระดมทุนได้ง่ายขึ้น
เพิ่มสภาพคล่องสำหรับรายย่อย: มีการหารือกับ ก.ล.ต. เพื่อปรับแผน ขั้นตอน และกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น และสร้างกลไกการซื้อขายที่เพิ่มสภาพคล่อง
โครงการ Jump+: ตลท. ยังคงเดินหน้าโครงการ Jump+ เพื่อสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในการวางแผนการเติบโตและสื่อสารศักยภาพของบริษัทให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนกองทุนต่างประเทศที่ต้องการเห็นการเติบโตของธุรกิจที่สูงกว่า GDP
สนับสนุน ESG: ตลท. กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียนในการลดต้นทุนการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (ESG) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจและมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป
“เท่าที่ฟังจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนกองทุนต่างประเทศ เขาอยากได้ความเชื่อมั่นในการเติบโตของธุรกิจ ทำยังไงให้เขาเห็นว่าธุรกิจมีศักยภพาในการเติบโตที่มากกว่า GDP ด้วยซ้ำ ก็เป็นอะไรที่อยากเชิญ บริษัทจดทะเบียนเข้ามาช่วยกันสื่อสารให้นักลงทุนทราบว่าอนาคตอันใกล้นี้ เราจะเติบโตอย่างไร” นายอัสสเดช กล่าว
แนวโน้มครึ่งปีหลังขึ้นกับการเติบโตและการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายอัสสเดช กล่าวว่า อ้างอิงการวิเคราะห์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นภาษีการค้าของสหรัฐฯ หากมีข้อตกลงที่ยุติได้ โดยไทยยังสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทางการค้าได้ แน่นอนว่าจะสร้างความมั่นใจขึ้น ซึ่งจะมีข้อมูลว่าอุตสาหกรรมใดที่แข่งขันได้และน่าจะเติบโตไปได้ และอีกสิ่งที่อยากเห็นในช่วงครึ่งปีหลังคืองบประมาณของประเทศ ซึ่งหากงบประมาณปี 69 ผ่านสภาฯได้ มีการใช้จ่ายของภาครัฐก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
รวมทั้งการสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน ทำอย่างไรให้มั่นใจว่าการลงทุนจะมีผลิตผลที่เหมาะสม เนื่องจากประเด็นภาษีการค้าที่มีความไม่แน่นอน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนต้องชะลอตัวลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกันหากภาครัฐมีการลงทุน มีการเบิกจ่ายงบประมาณมันก็จะสอดคล้องกัน ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน
ขณะเดียวกัน ตลท.ก็มีมาตรการช่วยเหลือ บจ. ในการรับมือภาษีการค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (ESG) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทั่วทั้วโลกจริงจังมากขึ้น ผ่านการออกกฎเกณฑ์ควบคุมที่เข้มงวด มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรปและจะกระทบต้นทุนทางอ้อม สิ่งที่ ตลท.ดำเนินการมาตลอดและอยากทำเพิ่มเติม คือแพลตฟอร์มกลาง เพื่อช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียนด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)