
ภาคเอกชน วอนรัฐรับมือสงครามการค้า หวังอัตราต่ำกว่าเวียดนาม ชี้หากถูกเก็บ 36% สูงเกินไป พร้อมลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ในบางอุตสาหกรรม แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดหมดหน้าตักแบบเวียดนามที่ลดเหลือ 0% ทุกรายการ วอนชะลอปรับขึ้นค่าแรง ห่วงวิกฤตแรงงานซ้ำเติม
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “The Art of The (Re) Deal” ว่า จากที่ได้ทำธุรกิจกับสหรัฐฯ นั้น เห็นว่าความคิดของสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯ ดูประเทศไทยมานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นเหมือน Big sugar daddy มานาน จนทำให้เขาสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเยอะมาก ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงทำให้เริ่มมีแนวคิดในการใช้มาตรการภาษีกับประเทศคู่ค้า โดยหวังว่าทุกประเทศจะรับฟัง ดังนั้น ถ้าไทยสามารถยืนยันเจตนากับสหรัฐฯ ได้ชัดเจนว่าจะไม่ใช่การเจรจาที่มี favor เหนือสหรัฐฯ ก็เชื่อว่าสหรัฐฯ ยังต้องการจะดีลกับไทยต่อ
“ต้องทำให้เขารู้ว่า เราตั้งหลักที่จะไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง มี favor เหนือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ถ้าเขามองออกว่า เรามีเจตนาจะไปในทางนั้น หมายถึงเป็น ego treatment ซึ่งฟีลลิ่งนี้ ถ้าเราทำได้ จะทำให้สหรัฐฯ อยากจะดีลกับเราต่อ” นายธนากร กล่าว
“คล้าย ๆ ดีลเดียว แต่เหมือนกับที่เวียดนามโดนนั้น ความเหมาะสมคืออะไรที่เราควรจะโดน เรามีวิธีการจัดเวลาตรงนี้ ให้มันค่อย ๆ หายไปไหม ถ้าเรายอมตรงนี้มากกว่า จะเหมาะสมไหมกับที่ให้เขาไปช่วยลดภาษีของเราให้ดีกว่าเวียดนามที่โดน 20% ถ้าเกิดเราได้น้อยกว่าเวียดนามเพียง 2% ก็มีความหมายมาก การคุยเรื่องนี้ ถ้าจูนเวลาในการปรับเรื่อง local content แสดง intention ว่าเราต้องการดีลกับสหรัฐฯ จริงๆ และต้องการ ego treatment ระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมันแฟร์ ถ้าเขารู้สัญญาณที่ชัดเจนนี้จากไทย เขาก็จะเดินเกมต่อ ถ้าทำตรงนี้ได้ เราดีลอัตราภาษีตรง 20% 40% ว่าแฟร์อยู่ตรงไหน เขารู้สึกว่ารับได้ การดีลก็จะเกิดขึ้นต่อ” ประธาน สรท.กล่าว
“เขาต้องการบอกโลกว่า สิ่งที่เขาเคยให้มาในอดีต เขาขอคืน ดังนั้น เราต้องแสดงความตั้งใจว่า เรากับเขาจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่เป็น fair treatment ถ้า message นี้ไปได้ชัด ผมว่าเขาอยากจะคุย และเข้ามาดีลกับเราจนกระทั่งจบ ซึ่งเรามีเรื่องที่ชัดเจนคือ เราได้ดุลการค้าสหรัฐน้อยกว่าเวียดนามได้ดุลจากสหรัฐ นี่เป็นจุดสำคัญ ถ้าเราสามารถบอกให้สหรัฐ รู้ว่าทำไมเราถึงควรโดนภาษีน้อยกว่าเวียดนาม ที่ 20% และ 40% เพราะเราทำความเสียหายให้กับสหรัฐฯ น้อยกว่าที่เวียดนามทำ … ทำอะไรก็ได้ ให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าเขาอยาก treat เรา และแฟร์กับเราในฐานะที่เป็น partner” นายธนากร ระบุ
“ผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาคอุตสาหรรม แต่ภาพรวมถ้าโดนที่ 36% ถือว่าสูงเกินไป และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แต่เรายังมั่นใจทีมไทยแลนด์ และให้กำลังใจ หวังว่าจะเจรจาได้สำเร็จ”
ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องทำเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินค้าอุตสาหกรรมของไทย คือ การสร้างรั้วสูง กำแพงหนา ประตูเหล็ก เพื่อป้องกันตัวเองด้วย ไม่เช่นนั้น เมื่อใดที่สินค้าจากประเทศเหล่านี้เข้าไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็จะไหลเข้ามาในไทย เหมือนในช่วง 7 ปีก่อน ที่สินค้าเหล็กจากจีนเข้ามาทุ่มตลาดในไทย และสร้างความเสียหายกับผู้ประกอบการในประเทศ ตามมาซึ่งการลดกำลังการผลิต และลดการจ้างงาน
“เราต้องสร้างรั้วสูง กำแพงหนา ประตูเหล็ก มาตรการ AD ที่เราใช้อยู่ มันไม่เพียงพอ กกร.มีมติแล้วว่า รัฐบาลต้องกล้าใช้มาตรการอื่นด้วย เช่น มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน เราต้องกล้าใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนด้วย ประเทศไทยออกกฎหมายมาหลายสิบปี ยังไม่เคยใช้แม้แต่ครั้งเดียว และการเยียวยาอีกส่วนหนึ่งที่ภาครัฐเตรียมไว้ คือ soft loan ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท.ของเรา เจอฝนตก พายุหนัก แต่ความรู้สึกของเขา เหมือนโดนธนาคารพาณิชย์บางแห่งหุบร่ม แทนที่จะช่วยป้องกันฝน ป้องกันพายุ” รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยเยียวยาโดยตรงแล้ว ขอเสนอว่า ที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็น 650 บาทต่อวันนั้น ขอให้ชะลอไปก่อนจะได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ประเทศกำลังเจอวิกฤติ ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้อาจยิ่งเป็นตัวเร่งให้แรงงานตกงานเพิ่มมากขึ้น
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และอุปนายกสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ไทย กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ 50 ปี Local Content มีเพียง 5% ใช้เวลาเกือบ 20 ปี กว่าจะขยับมา 50% เนื่องจากปัจจัยเรื่องไฮเทคโนโลยี คุณภาพ และความละเอียดสูงมาก
“อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ คุ้นเคยกับการนำเข้าส่งออกที่ 0% แต่วันนี้เราโดน 10% ดังนั้น สิ่งแรกที่จะเห็นหลังจากนี้ คือการลด OT ลดกำลังการผลิต และอุตสาหกรรมไหนที่สามารถโยกย้ายวอลลุ่มกำลังการผลิตได้ เขาจะโยกไปประเทศที่อัตราภาษีต่ำกว่า” นายสัมพันธ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)