
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยแพร่ผลสำรวจในวันนี้ (14 ก.ค.) ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75.3% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด รู้สึกว่าราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น “อย่างมาก” เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงต่อเนื่องกับสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างอาหารและของใช้อื่น ๆ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า หากรวมผู้ที่ตอบว่าราคาขึ้น “เล็กน้อย” ด้วยแล้ว สัดส่วนของผู้ที่เชื่อว่าราคาสินค้าปรับขึ้นรวมทั้งหมดอยู่ที่ 96.1% ไม่เปลี่ยนแปลงจากสถิติสูงสุดเดิมที่เคยสำรวจไว้เมื่อเดือนมี.ค. โดยผลสำรวจนี้มาจากการศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชน
สำหรับแนวโน้มราคาในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ผู้ตอบแบบสอบถาม 85.1% คาดว่าราคาจะยังคงสูงขึ้น ลดลงเล็กน้อยจาก 86.7% ในเดือนมี.ค. โดยอัตราการเพิ่มขึ้นที่คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.8% เพิ่มขึ้นจาก 12.2% ในผลสำรวจครั้งก่อน
ราคาที่สูงขึ้นส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการรับรู้สภาพความเป็นอยู่ของครัวเรือนอย่างชัดเจน ผู้ตอบแบบสอบถาม 61.0% เผยว่าสถานการณ์ครัวเรือนของตนแย่ลงในช่วงปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 55.9% ขณะที่มีเพียง 3.8% เท่านั้นที่บอกว่าดีขึ้น ลดลงจาก 3.9%
ในกลุ่มผู้ที่บอกว่าแย่ลงนั้น 93.7% ชี้ว่าราคาที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุหลัก ตามมาด้วย 30.3% ที่อ้างถึงรายได้ที่ลดลง
ผลสำรวจดังกล่าวดำเนินการทางไปรษณีย์ ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. ถึง 3 มิ.ย. โดยส่งแบบสอบถามไปยังผู้ใหญ่ 4,000 คนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีผู้ตอบกลับที่ถูกต้อง 50.4%
ผู้ตอบแบบสอบถาม 70.5% ระบุว่าสภาพเศรษฐกิจแย่ลงเมื่อเทียบกับปีก่อน มีเพียง 3.5% เท่านั้นที่ระบุว่าสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น
เมื่อถามถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจ 42.8% ประเมินจากระดับรายได้ของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ตามมาด้วย 39.0% ที่ประเมินจากรายงานข่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)