
ธนาคารต่าง ๆ ของจีนปล่อยสินเชื่อใหม่เป็นมูลค่า 2.24 ล้านล้านหยวน (3.1247 แสนล้านดอลลาร์) ในเดือนมิ.ย. ซึ่งมากกว่าเมื่อเดือนพ.ค. ถึง 3 เท่าตัว และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านหยวน ปัจจัยหนุนมาจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเพิ่มความต้องการสินเชื่อในช่วงที่สหรัฐฯ และจีนสงบศึกทางการค้า
นอกจากนี้ ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่ประกาศออกมาเมื่อวันจันทร์ (14 ก.ค.) ก็สูงกว่ายอด 2.13 ล้านล้านหยวนในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้วอีกด้วย
สำหรับยอดรวมสินเชื่อใหม่สกุลเงินหยวนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 12.92 ล้านล้านหยวน (1.81 ล้านล้านดอลลาร์) ลดลงจาก 13.27 ล้านล้านหยวนในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ PBOC ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลจำแนกรายเดือน แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้คำนวณตัวเลขเดือนมิ.ย. โดยอ้างอิงจากข้อมูลเดือนม.ค.-มิ.ย.ของ PBOC เปรียบเทียบกับตัวเลขเดือนม.ค.-พ.ค.
ผลการคำนวณของสำนักข่าวรอยเตอร์ชี้ว่า สินเชื่อภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย พุ่งทะยานขึ้นสู่ระดับ 5.976 แสนล้านหยวนในเดือนมิ.ย. จาก 5.4 หมื่นล้านหยวนในเดือนพ.ค.
ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.77 ล้านล้านหยวน จาก 5.30 แสนล้านหยวนในเดือนพ.ค.
ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ยอดสินเชื่อคงค้างในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเท่ากับเมื่อเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้เล็กน้อยที่ 7.0%
ด้านปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ (M2) ในเดือนมิ.ย.เร่งตัวขึ้นแตะ 8.3% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่สำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 8.1% และเพิ่มขึ้นจาก 7.9% ในเดือนพ.ค. ส่วนปริมาณเงินในความหมายแคบ (M1) ขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบรายปี เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.3% ในเดือนพ.ค.
ขณะที่การเติบโตรายปีของยอดคงค้างการจัดหาเงินทุนทางสังคม (TSF) ซึ่งเป็นมาตรวัดสินเชื่อและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพิ่มขึ้น 8.9% ในเดือนที่แล้ว ดีขึ้นจาก 8.7% ในเดือนพ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)