
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจุบัน (14 ก.ค. 68) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 44,275 ล้าน ลบ.ม. (58% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 32,227 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 13,567 ล้าน ลบ.ม. (55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 11,304 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ดี
ด้านสถานการณ์อุทกภัย จากฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ดังนี้
1. จังหวัดตราด บริเวณ อ.เขาสมิง
2. จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม อ.เรณูนคร อ.นาแก อ.วังยาง และ อ.โพนสวรรค์
3. จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ประสบอุทกภัยบริเวณ อ.โพนนาแก้ว
อย่างไรก็ดี กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14-19 ก.ค. 68 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกกระจายตัวเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบางพื้นที่ จึงยังคงต้องระวังฝนตกสะสมและน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนภาคใต้ยังมีฝนบางแห่ง คลื่นลมเบาลง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม ยังมีกำลังปานกลาง
ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ พร้อมทั้งนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อท้ายเขื่อน เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้น ตามข้อสั่งการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 68 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งหมั่นตรวจสอบอาคารชลศาสตร์และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกำหนดพื้นที่เสี่ยง และมอบหมายเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)