
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา “ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย” ในหัวข้อ “ปลดล็อกอุตสาหกรรมไทย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวครึ่งปีแรก และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยในครึ่งปีหลัง” โดยได้อัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาว่า มีทั้งมิติเชิงบวก และลบ ดังนี้
- ในมิติเชิงบวก คือเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 GDP ขยายตัวที่ 3.1%YoY มีปัจจัยหลักมาจากปริมาณการส่งออกขยายตัวสูง, ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1/68 มี 822 โครงการ เพิ่มขึ้น 20%YoY มูลค่าเงินลงทุนรวม 431,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97%YoY, จำนวนโรงงานปิดกิจการ 5 เดือน 601 โรง ลดลง 27.24%YoY, การส่งออกไทย ม.ค.-พ.ค. 68 มีมูลค่า 138,202 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.9%YoY, อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค. 68 ลดลง 0.57%YoY จากราคาอาหารสดและพลังงานที่ปรับลดลง และการจ้างงาน เดือนพ.ค. 68 มีผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 12.12 ล้านคน เพิ่มขึ้น 177,242 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 1.48%YoY
- ในมิติเชิงลบ ได้แก่ GDP สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาส 1/68 ขยายตัวเพียง 0.6% โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ยังคงชะลอตัว, ยอดผลิตรถยนต์ ม.ค-พ.ค. 68 ยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายลดลง 2.98% ส่งออกลดลง 13.65%, จำนวนโรงงานเปิดกิจการ 5 เดือน 285 โรง ลดลง 49.74%YoY, นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม (1 ม.ค.-22 มิ.ย. 68) จำนวน 16.04 ล้านคน หดตัว 4.24%YOY, หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 1/68 จำนวน 16.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 87.4% ต่อ GDP และยอด NPL ณ ไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 1.19 ล้านล้านบาท และต้นทุนการผลิตทรงตัว แต่ยังสูงกว่าคู่แข่ง เช่น ค่าไฟฟ้า 3.98 บาท/หน่วย ราคาน้ำมันดีเซล 31.94 บาท/ลิตร
- สารพัดปัจจัยกดดันศก.ไทย H2/68 แนะ 4 Go สู่การยกระดับภาคอุตสาหกรรม
ส่วนสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปี 68 มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ 1. มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ และสงครามการค้า ซึ่งไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจาให้ได้อัตราภาษีน้อยกว่าที่ระดับ 36% 2. ปัญหาสินค้าทุ่มตลาด และการสวมสิทธิส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต 3. ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามอิสราเอล-อิหร่าน 4. ข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมองว่าควรเปิดการค้าชายแดนตามปกติ และจัดการสิ่งผิดกฏหมายให้หมดไป เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์ เป็นต้น
5. ภาระหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ เป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทยทะลุไปถึง 80% โดยความกังวลคือในอดีตหนี้ครัวเรือนสูง แต่ยังมีรายได้ในอนาคต แต่ปัจจุบันมีแต่ความไม่แน่นอน 6. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยมีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับที่ 30 ของโลก 7. แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และ 8. ความไม่แน่นอนทางการเมือง
สำหรับแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทย คือ First Industries ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วย 4 Go ได้แก่
- Go Digital & AI การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี และ AI
- Go Innovation การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
- Go Global การพัฒนาสินค้าและบริการไทย เพื่อขยายโอกาสสู่ตลาดโลก
- Go Green การขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการปรับตัวสู่เป้าหมาย Net Zero
ส่วนทิศทางของประเทศไทยหลังจากนี้ คือ Next-Gen Industries สร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วย S-curve Industries, BCG เปลี่ยนความกดดันทางสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาสทางธุรกิจ และ Climate Change
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อปลดล็อกศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรม ดังนี้
- Next-Gen Industry ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- Regulatory Reform ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า และธุรกิจ
- Law Enforcement เข้มงวดบังคับใช้กฏหมาย ตรวจสอบสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาสวมสิทธิ
- Local Content Promotion ส่งเสริมการใช้ Local Content และสินค้า Made in Thailand
- FTA เร่งเจรจาข้อตกลงการค้า และปรับยุทธศาสตร์ กระจายตลาดส่งออก
- BCG Model การส่งเสริม และพัฒนาตามแนวคิด BCG
“ในภาพรวมในระยะข้างหน้า GDP ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการพึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงภาพรวมสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง และมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมขั้นสูง วันนี้ ความสามารถในการแข่งขันของไทยปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่สะท้อนกลับไปที่ GDP แสดงว่ากลไกการทำงานของไทยยังมีปัญหาอยู่ ต้องรีบแก้ไข” นายวิวรรธน์ กล่าว
- ส่งออกไทยครึ่งปีหลังดิ่งแน่ เร่งหาตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐฯ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย สัมมนาในหัวข้อ “ถอดรหัสสัญญาณเศรษฐกิจโลก ผลกระทบและมุมมองการคว้าโอกาสของไทยในครึ่งปีหลัง” ว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 68 ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงเพิ่มขึ้น
โดยประเมินว่า การส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีจะหดตัว ส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.9%YOY เนื่องมาจากการเร่งนำเข้าก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่ระยะข้างหน้ามีสัญญาณว่าจะแผ่วลง และมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี จะหดตัวกว่า 10%YOY
ทั้งนี้ ทางออกในช่วงที่ไทยอาจส่งออกได้ลดลง หรือไม่สามารถส่งออกไปได้ในบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า “ตลาดอื่นหรือตลาดใหม่” เป็นโอกาสในวิกฤต ซึ่งตลาดใหม่ คือประเทศที่ไทยยังไม่เคยส่งออกไปโดยตรง หรือเป็นประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ดังนั้น ต้องเร่งเจรจาหาตลาดทำ FTA
สำหรับประเด็นเรื่องการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้หอการค้าไทย ได้ขอให้สมาคมการค้าต่าง ๆ ไปดูสินค้าของตนเองว่า มีสัดส่วนที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากน้อยเท่าไร เกินกว่า 50-60% หรือไม่ เพราะมีโอกาสสูงที่ไทยจะใช้วิธีเจรจาที่คล้ายเวียดนาม คือมี 2 อัตรา ทั้งอัตราภาษีนำเข้า และอัตราภาษีสินค้าที่มีการส่งต่อจากประเทศอื่น ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่ไทยจะเป็นกรณีนี้ เพราะไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นที่ส่งผ่านของสินค้าจากจีน
สำหรับแนวทางผลักดันเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับตัวในสถานการณ์นี้ คือ การส่งเสริมนวัตกรรมและดิจิทัล ดังนี้
- Digital Economy (เศรษฐกิจดิจิทัล) เช่น e-commerce, e-business รวมไปถึงการใช้ big data
- AI (ปัญญาประดิษฐ์) เช่น การติดตามวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง, การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อป้องกันของปลอม หรือการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้า
- Block chain for Traceability (บล็อกเชนเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ) การนำบล็อกเชนมาใช้กับการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ช่วยให้ทุกขั้นตอนในซัพพลายเชน เช่น การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย สามารถตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องได้แบบเรียลไทม์ ไปร่งใส และไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้
นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนธุรกิจสีเขียว (Green Industry) ทั้งเรื่องคาร์บอนเครดิต และ ESG Reporting รวมถึงการส่งเสริมให้ใช้ Solar Rooftop และการผลักดัน Bio-Circular-Green (BCG Economy)
“หลังจากนี้ ไม่ว่าไทยจะเจอสถานการณ์ใด ทั้งมาตรการภาษี เรื่องข้อบังคับต่าง ๆ ของโลก จะต้องปรับตัวให้ทันทั้งภาครัฐ และเอกชน และที่สำคัญ ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหมดที่เรามี” นายวิศิษฐ์ กล่าว
- คาดต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ 35 ล้านคน มาเลย์แซงจีนขึ้นอันดับ 1
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในหัวข้อ “ถอดสัญญาณท่องเที่ยวครึ่งปีแรก พลิกเกมด้วยกลยุทธ์กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง” ว่า สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย และตลาดต่างประเทศ ปี 68 ประเมินว่า มีแนวโน้มที่จะติดลบ 5% จากปีก่อน แต่ฟื้นตัว 86% เทียบกับปี 62 โดยภาพลักษณ์ที่ส่งผลต่อ Sentiment ของนักท่องเที่ยว หลัก ๆ คือเรื่องภาพลักษณ์เชิงลบด้านความปลอดภัย และภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวที่เก่าแก่ และล้าสมัย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก, การส่งเสริมการท่องเที่ยวของคู่แข่งในเอเชีย, พฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนไป, ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุที่เกิดซ้ำและรุนแรง และปัญหาความข้ดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามการค้าระหว่างประเทศ การสู้รบอิสราเอล-อิหร่าน และผลกระทบปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
นายนิธี กล่าวว่า ล่าสุด มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 17 ล้านคน และคาดการณ์ว่า ปี 68 นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 35 ล้านคน โดยได้มีการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 68 ซึ่งคาดว่าจะเป็นปีแรกที่นักท่องเที่ยวจีนจะเสียแชมป์อันดับ 1 ไป และมาเลเซียขึ้นมาแทน โดยประเมินว่า อันดับ 1 คือ ประเทศมาเลเซีย 4,816,000 คน, อันดับ 2 จีน 4,208,000 คน, อันดับ 3 อินเดีย 2,415,600 คน, อันดับ 4 รัสเซีย 1,965,000 คน และอันดับ 5 เกาหลี 1,608,000 คน
“ปีนี้ไม่แน่ใจว่าจะถึงเป้าที่วางไว้หรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่าเป้า แต่นักท่องเที่ยวระยะไกลมาเพิ่ม 10-20% จากปีก่อน ซึ่งกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง ทำให้รายได้ปีนี้น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา และเป็นการสะท้อนว่า ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประเทศที่เน้นคุณภาพมากขึ้น” นายนิธี กล่าว
- ชี้ 4 สถานการณ์เหนี่ยวรั้งการเติบโตภาคท่องเที่ยว
สำหรับปัญหา อุปสรรค และปัจจัยภายนอกของภาคท่องเที่ยว ถ้าเรามองตลาดท่องเที่ยวไทยในครึ่งปีแรก เหมือนการแข่งขันวิ่งมาราธอน เราวิ่งได้เร็ว แต่มี 4 อย่างที่เหนี่ยวรั้งไว้ คือ
- เศรษฐกิจโลกผันผวน เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยแพง ค่าเงินไม่เอื้อ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องรัดเข็มขัดเดินทางลดลง
- เที่ยวบินยังไม่ฟื้นเต็มที่ ทำให้ราคาตั๋วแพง เส้นทางไม่ครอบคลุม ประเทศไทยยังมีเที่ยวบินน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับ “ตลาดจีน-อินเดีย” อย่างชัดเจน
- คนพร้อมเที่ยว แต่ไม่พร้อมจ่าย กำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่ทั้งคนไทยและต่างชาติ เลยเน้นเดินทางแบบประหยัด โดยนักท่องเที่ยวเลือกทริปสั้นใช้จ่ายน้อย และคนไทยเจอค่าครองชีพสูง เดินทางลดลง
- คู่แข่งดุ Soft Power เด่น ทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เดินเกมแรง ทั้งโปรโมชันตั๋วเครื่องบิน การยกเว้นวีซ่า และสร้างคอนเทนต์ดึงดูด ทำให้นักท่องเที่ยวหันไปประเทศอื่นแทน
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้มีกลยุทธ์สร้างความเชื่อมั่น ด้วยการจัดแคมเปญต่าง ๆ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังสำหรับต่างประเทศ โดยใช้การขยายตลาด และรักษาฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพ ได้แก่ 1. ขยายฐานตลาดใหม่ เจาะกลุ่มศักยภาพสูงในภูมิภาคใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ลาตินอเมริกา 2. รักษาการเติบโตต่อเนื่องของกลุ่ม Quality Leisure (Short Haul / Long Haul) และ 3. จุดขายเฉพาะกลุ่ม เช่น Wellness, Luxury, Long Stay หรือ Muslim Friendly เป็นต้น
- แนะ 5 ทางรอดที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว
นายนิธี กล่าวว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์ คือ “ท่องเที่ยวไทยในยุค Next Normal: พลิกเกมด้วยการปรับตัว” เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวในยุคใหม่ต้องเผชิญทั้งโอกาส และความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จากเทคโนโลยี พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และวิกฤตต่าง ๆ ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน โดย 5 แนวทางหลักที่ธุรกิจท่องเที่ยวควรเร่งปรับตัว มีดังนี้
- เน้นคุณค่า มากกว่าปริมาณ จากยุค “นักท่องเที่ยวจำนวนมาก” สู่ “นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ” ธุรกิจควรเน้นสร้างประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น Wellness, Luxury, Eco-tourism
- ใช้เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) เช่น ระบบจองอัตโนมัติ, แชทบอทตอบลูกค้า, AR/VR สำหรับนำเสนอปลายทาง ธุรกิจที่เชื่อมต่อผู้ใช้ได้สะดวกและเร็ว คือ ผู้ชนะในยุคดิจิทัล
- ออกแบบบริการให้ยืดหยุ่น และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เช่น เงื่อนไขการเลื่อน/ยกเลิกการจอง, แพ็กเกจที่ปรับได้ตามความต้องการ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน เช่น โรคระบาด ภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน
- เดินหน้าสู่ความยั่งยืน (Sustainable Tourism) นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่สนใจสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม ควรลดขยะ, ใช้พลังงานสะอาด, สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก
- สร้างแบรนด์จากเรื่องเล่าและอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Storytelling & Soft Power) นักท่องเที่ยวยุคใหม่ไม่ต้องการแค่เที่ยว แต่ต้องการเรื่องราวด้วย ดังนั้นควรนำวัฒนธรรม อาหาร ประเพณี ภูมิปัญญาไทย มาสื่อสารอย่างมีเสน่ห์ เพื่อดึงดูดใจตลาดโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 68)