
นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย [CIMBT] เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 1,012.6 ล้านบาท ลดลง 281.9 ล้านบาท หรือ 21.8% เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2567 สาเหตุหลักมาจากรายการพิเศษ (one-off items) ได้แก่ การปรับวิธีรับรู้รายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR) และการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มเติม (Expected Credit Loss Overlay) ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสินทรัพย์ที่ลดลง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนถึงความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงของธนาคารภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน
สำหรับกำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 1,268.9 ล้านบาท ลดลง 342.1 ล้านบาทหรือ 21.2% สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 13.6% และการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 86.2% สุทธิกับการลดลงของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 19.1% และการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้อื่น 4.8% และ 21.5% ตามลำดับ
รายได้จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2568 มีจำนวน 6,780.5 ล้านบาท ลดลง 257.8 ล้านบาท หรือ 3.7% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2567 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 646.0 ล้านบาท หรือ 13.6% จากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อ สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 30.5 ล้านบาท หรือ 4.8% เกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 357.8 ล้านบาท หรือ 21.5% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิขายเงินลงทุน สุทธิกับการลดลงของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน และการลดลงของกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2568 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2567 ลดลง 832.7 ล้านบาทหรือ 19.1% สาเหตุหลักมาจากการลดลงของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและการลดลงของค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2568 อยู่ที่ 52.1% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2567 อยู่ที่ 62.0%
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) งวดหกเดือนปี 2568 อยู่ที่ 1.9% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2567 อยู่ที่ 2.2% ตามการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 244.2 พันล้านบาท ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) 316.5 พันล้านบาท ลดลง 2.3% จากสิ้นปี 2567 ซึ่งมีจำนวน 324.0 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็น 77.2% จาก 77.6% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 2.6% คงที่เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นผลจากการที่กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 อยู่ที่ 155.9% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 149.0% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีจำนวน 60.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 21.7% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.0
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 68)